TARADTHONG.COM

สมาชิก VIP => General Discussion => ข้อความที่เริ่มโดย: webmaster ที่ มีนาคม 09, 2011, 02:02:20 PM



หัวข้อ: ผลสำรวจหญิงไทยครองแชมป์ ผู้บริหารระดับสูงจากทั่วโลก
เริ่มหัวข้อโดย: webmaster ที่ มีนาคม 09, 2011, 02:02:20 PM
ผลสำรวจหญิงไทยครองแชมป์ ผู้บริหารระดับสูงจากทั่วโลก


แกรนท์ ธอร์นตัน เผยผลสำรวจจาก 39 ประเทศทั่วโลก ผู้หญิงไทยติดอันดับหนึ่งในการดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงจากทั่วโลก หรือคิดเป็นร้อยละ 45% โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บริหารด้านการเงิน ส่วนหนึ่งเพราะสังคมเริ่มเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น

          นางอัจฉรา บุณยหรรษา ผู้อำนวยการ แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย กล่าวว่า จากผลสำรวจครั้งก่อนเมื่อปี 2009 (สำรวจ 2 ปีครั้งเพื่อให้ได้ตัวเลขที่แน่นอน) นั้น ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 3 ของโลก โดยคิดเป็นอัตราส่วน 38% แต่ในปีนี้ประเทศไทยขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 1 ของโลกหรือคิดเป็นร้อยละ 45% และเป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย 

          สาเหตุที่ผู้หญิงไทยครองแชมป์อันดับหนึ่งในตำแหน่งนี้ เนื่องจากในปัจจุบันสังคมไทยเปิดโอกาสให้ผู้หญิง และให้ความเชื่อมั่นในตัวผู้หญิงมากขึ้น โดยมองว่าผู้หญิงและผู้ชายมีความทัดเทียมซึ่งกันและกัน ส่วนหนึ่งมาจากการรับวัฒนธรรมจากต่างประเทศเข้ามาสู่ประเทศไทย จึงทำให้คนไทยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมากขึ้น ประกอบกับเรื่องของเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง จึงทำให้ผู้หญิงมุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับงาน และผู้หญิงยังเปิดโอกาสให้ตนเองได้ศึกษาในระดับที่สูงขึ้น จึงมีโอกาสสอบเทียบเลื่อนชั้นในระดับสูง ๆ มากขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้การที่ผู้หญิงไทยมีสถานภาพโสดหรือมีครอบครัวช้า ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงไทยสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นได้เช่นกัน

          ส่วนตำแหน่งที่ผู้หญิงไทยสามารถเข้าไปอยู่ในระดับที่สูงนั้นได้แก่ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ทางการเงิน เช่น ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการเงินหรือผู้อำนวยการฝ่ายเงิน (22%) รองลงมาเป็นตำแหน่งฝ่ายทรัพยากรบุคคล (20%) หรือบริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด และผู้อำนวยการฝ่ายการขาย (9% ทั้งสองตำแหน่ง) สาเหตุที่ผู้หญิงสามารถดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงดังกล่าวนั้น เป็นเพราะผู้หญิงไทยนั้นค่อนข้างมีความละเอียดอ่อน รอบคอบและมีความอดทน สามารถทำงานภายใต้สถานการณ์ที่กดดันต่าง ๆ ได้ ประกอบกับตำแหน่งที่กล่าวมาเป็นงานที่ค่อนข้างต้องใช้ความละเอียดรอบคอบและความอดทนเป็นหลัก เช่นงานด้านเงิน หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ต้องมีการฝึกอบรมพนักงานอยู่เป็นประจำ นางอัจฉรากล่าว ส่วนหน่วยงานหรือองค์กรที่ผู้หญิงสามารถเป็นผู้บริหารระดับสูงได้นั้นส่วนมากจะเป็นองค์กรเอกชน ส่วนหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ก็เริ่มที่จะเห็นผู้หญิงเข้ามามีบทบาทตามมามากยิ่งขึ้น

          สำหรับ 3 ประเทศที่มีอัตราส่วนผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงน้อยที่สุดนั้นได้แก่ ญี่ปุ่น (8%) อินเดีย (9%) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (8%) นางอัจฉราได้เผยในมุมมองของตนว่า เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากประเทศอื่น เช่น การที่ผู้หญิงต้องอยู่กับบ้านคอยดูแลครอบครัว ทำให้การทำงานของผู้หญิงต้องหยุดชะงัก และไม่สามารถดำรงตำแหน่งนี้ได้ พูดง่าย ๆ ว่า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง รวมถึงเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำลง ทำให้เกิดการจ้างงานที่ลดลง จึงทำให้ไม่พบผู้หญิงดำรงตำแหน่งระดับสูงในประเทศเหล่านี้

          แนวโน้มในอนาคตนั้นนางอัจฉราเผยว่า อัตราของการที่ผู้หญิงไทยจะดำรงตำแหน่งในระดับสูง โดยมุมมองส่วนตัวมองว่า ประเทศจะยังคงอยู่ในอันดับหนึ่งของโลก หรือคิดเป็นร้อยละ 45% อาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ประมาณ 1-2% เท่านั้น ซึ่งระดับดังกล่าวถือเป็นระดับที่กำลังดี ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป และที่สำคัญปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวบอกว่าประเทศไทยจะสามารถรักษาแชมป์ไว้ได้หรือไม่

          ขณะเดียวกันหากประเทศไทยต้องการรักษาอันดับแชมป์อันดับหนึ่งต่อไปนั้น นางอัจฉรากล่าวว่า อย่างแรกหลาย ๆ หน่วยงานโดยเฉพาะองค์กรใหญ่ควรเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับผู้หญิงให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการผ่อนปรนในการทำงาน เช่น ควรให้มีวันหยุดหรือเวลาดูแลครอบครัวบ้างตามสมควร นอกจากนี้การมีห้องพักเพื่อดูแลเด็กอ่อน หรือเด็กที่อยู่ในระดับก่อนเข้าอนุบาลของพนักงานนั้น ก็จะช่วยให้ผู้หญิงทำงานได้สะดวกและคล่องตัวขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลดีให้ผู้หญิงสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และผู้หญิงเองควรศึกษาหาความรู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมกับพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญต้องรู้จักเข้าสังคมเพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ของผู้หญิงให้กว้าง เพื่อนำไปสู่การทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้นต่อไป