TARADTHONG.COM

สมาชิก VIP => General Discussion => ข้อความที่เริ่มโดย: น่ารักสุดๆ ที่ กรกฎาคม 09, 2010, 07:12:59 PM



หัวข้อ: ก.พลังงานจี้รัฐปีนี้ควรตัดสินใจตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่
เริ่มหัวข้อโดย: น่ารักสุดๆ ที่ กรกฎาคม 09, 2010, 07:12:59 PM
ก.พลังงานจี้รัฐปีนี้ควรตัดสินใจตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่

กระทรวงพลังงานหวังรัฐบาลตัดสินใจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปีนี้หวั่นกระทบแผนผลิตไฟฟ้าประเทศ

นายกมล  ตรรกบุตร  ผู้ช่วยผู้ว่าการ  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  (กฟผ.)  เปิดเผยถึงแผนการสร้างโรงฟ้านิวเคลียร์ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี)ว่า ขณะนี้ทางกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างสรุปข้อมูลความพร้อมการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยจะทำเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งในปีนี้จะต้องตัดสินใจให้ได้ว่าประเทศไทยจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้หรือไม่ เนื่องจากครบกำหนดระยะเวลาในการศึกษาความพร้อมเป็นเวลา 3 ปีแล้ว

ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 12-16 ก.ค. ทางกระทรวงพลังงานจะเดินทางไปยังสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลีย เพื่อรายงานความพร้อมใน 19 ด้านที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวคเลียร์ในไทย เพื่อขอคำแนะนำ ถึงความเป็นไปได้ในกาสร้างโรงไฟฟ้า เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์โดยเฉพาะ

สำหรับสาระสำคัญที่จะนำไปหารือ เช่น การคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายที่จะต้องตั้งโรงไฟฟ้ามีทั้งหมด 5 แห่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์  ชุมพร  นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี 2 แห่ง  โดยนจะให้พิจารณาแต่ละพื้นที่มีความเหมาะสมแค่ไหน ตลอดจนการจัดเตรียมบุคคลากร และการออกกฏหมายมารองรับ ก่อนที่จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดขึ้นในไทย

“ตามแผนพีดีพี กำหนดให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  5  แห่ง กำลังผลิตรวม 5,000 เมกะวัตต์  โดยจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรก ในปี 2563  ดังนั้นรัฐบาลจะต้องตัดสินใจภายในปีนี้ หรือต้นปี 54 ว่าจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่  เพราะต้องให้เวลาในกระบวนการสร้างโรงไฟฟ้าด้วย  แต่ถ้ายังไม่ตัดสินใจหรือเลื่อนนโยบายดังกล่าวออกไป ทางกระทรวงพลังงานจะต้องมีแผนรองรับเพื่อไม่ให้กระทบกับแผนผลิตไฟฟ้าในอนาคต”นายกมลกล่าว

ด้านนายวีรพล  จิรประดิษฐกุล  ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน  (สนพ.)   กล่าวว่า  ขณะนี้ได้เตรียมแผนสำรองไว้กรณีไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  โดยจะหันไปใช้โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้าแทน   แต่ในระยะยาวยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเริ่มลดลง ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) จากต่างประเทศ  ซึ่งต้องอิงกับแนวโน้มราคาในตลาดโลกจะทำให้มีต้นทุนสูงและกระทบค่าไฟฟ้า ขณะเดียวกันจะเกิดความเสี่ยงต่อระบบผลิตไฟฟ้า  เพราะปัจจุบันไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าถึง70%