TARADTHONG.COM

วิเคาระห์กราฟแนวโน้มราคาทองรายวัน => วิเคาระห์กราฟแนวโน้มราคาทองรายวัน => ข้อความที่เริ่มโดย: น่ารักสุดๆ ที่ กรกฎาคม 25, 2010, 10:43:23 AM



หัวข้อ: 'Active Fund & Passive Fund' สไตล์ไหนตอบโจทย์หุ้นได้ดีกว่า
เริ่มหัวข้อโดย: น่ารักสุดๆ ที่ กรกฎาคม 25, 2010, 10:43:23 AM
'Active Fund & Passive Fund' สไตล์ไหนตอบโจทย์หุ้นได้ดีกว่า
ถ้าจะเลือกกองทุนหุ้น จะเลือกกองทุนสไตล์การบริหารแบบไหนดีกว่ากัน ระหว่าง “กองหุ้นที่บริหารเชิงรุก กับ “กองหุ้นที่บริหารเชิงรับ”


@ มั่นใจใน Active Fund

“โศภนา เจนบวร” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย บอกว่า ปีแรกที่เศรษฐกิจฟื้นตัวตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่ดีมาก อย่างตลาดหุ้นไทยในปี 2552 ที่ผ่านมา ให้ผลตอบแทนสูงถึง 63.25% โดยดัชนีของทุกกลุ่มอุตสาหกรรมต่างให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกทั้งหมดตั้งแต่ 15.37-177.27% และไม่มีดัชนีของกลุ่มอุตสาหกรรมใดเลยที่ให้ผลตอบแทนติดลบ ในปีที่ผ่านมา “กองทุนดัชนี (Index Fund)” ซึ่งมีผลตอบแทนเกาะไปกับดัชนีจึงมีผลการดำเนินงานค่อนข้างดี

แต่ในปีนี้จะต่างกันออกไปเพราะเป็นปีที่ 2 ของการที่เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัว ตลาดหุ้นจะกลับมาให้ผลตอบแทนในระดับที่ปกติไม่ได้มากเหมือนในปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเห็นว่าในปีนี้ดัชนีของกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งที่ยังเป็นบวกและที่ติดลบสลับกันไป ในแง่ของการลงทุนเองก็คงไม่ง่ายเหมือนในปีที่ผ่านมา

ดังนั้น “กองทุนที่มีการบริหารเชิงรุก (Active Fund)” ที่ใช้ความสามารถของผู้จัดการกองทุนในการคัดเลือกหุ้นที่ดีเพื่อลงทุนจะเริ่มก้าวเข้ามามีบทบาทและความสำคัญมากขึ้น ทั้งนี้จะเห็นว่าผลตอบแทนของกองทุนหุ้นในปีนี้ที่มีผลงานที่ดีจะเป็นกองทุนหุ้นที่เป็น Active Fund แล้ว

“ผลลัพธ์ที่สะท้อนในผลการดำเนินงานในปัจจุบันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดจากการทำงานของผู้จัดการกองทุนในการคัดเลือกหุ้นเพื่อลงทุน โดยมุ่งหวังที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดโดยรวมนั่นเอง ในปีที่ 2 ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวนี้หุ้นก็ยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจลงทุนในระยะยาว แต่ในระยะสั้นอาจมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามารบกวนเป็นระยะๆ แต่ในระยะยาวคาดว่าตลาดหุ้นไทยจะกลับเข้าสู่ทิศทางขาขึ้นจากเศรษฐกิจฟื้นตัวเช่นเดียวกัน โดยนักลงทุนควรจะใช้กลยุทธ์การปรับเปลี่ยนระดับเงินสด ใช้กลยุทธ์ขายทำกำไรและมีการเปลี่ยนตัวหุ้นที่ลงทุน (Switching) บ้าง ทั้งในระดับหุ้นรายกลุ่มธุรกิจและระดับหุ้นรายตัวเป็นช่วงๆ ไปในการลงทุน”

เช่นเดียวกับ “อดิเทพ วรรณพฤกษ์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุนประเทศไทย บลจ.อเบอร์ดีน ที่มองว่า กองทุนหุ้นที่เป็น Active Fund ถ้าเลือกลงทุนถูกวิธีแล้ว จะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากองทุนหุ้นที่เป็น Passive Fund อย่างแน่นอน ตัวอย่างกองทุนเปิดอเบอร์ดีนโกรท (ABG) ที่ตั้งขึ้นในปี 1997 นั้น นับถึงปัจจุบัน ( 25 มิ.ย. 2553) ให้ผลตอบแทน 389.25% ในขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทน 21.47% เท่านั้น

จะเห็นว่าผลตอบแทนแตกต่างกันมากทีเดียว หาก Active Fund ลงทุนอย่างถูกต้องแล้วย่อมจะให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่ดีกว่า Passive Fund อย่างแน่นอน แต่ไม่ใช่ว่าเป็น Active Fund แล้วจะเหมือนกันหมด บางกองก็มีการลงทุนแบบมองจากบนลงล่าง (Top-Down) บางกองก็มีการลงทุนแบบมองล่างขึ้นบน (Bottom-Up) แล้วที่เรียกว่า Actve Fund นั้นเป็น Active Fund จริงหรือเปล่า มีการทำบทวิจัย มีการไปพบผู้บริหาร มีการทำการบ้านจริงหรือเปล่า ในรายละเอียดต่างๆ เป็นต้น

“ดังนั้น กองทุนหุ้น Active Fund แม้จะบอกว่าตัวเองเป็น Active Fund แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเหมือนกัน เพราะ Active Fund เองก็มีความแตกต่างกันอยู่เช่นกัน แต่ถ้าเป็น Active Fund ที่ลงทุนถูกต้องจริงๆ ย่อมดีกว่า Passive Fund แน่นอน”

@ Passive Fund เหมาะกับตลาดบางช่วง

“พิพัฒน์ พิศณุวงรักษ์” รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายจัดการลงทุน บลจ.ทหารไทย มองว่า ในปีที่ตลาดหุ้นดีมีทิศทางเป็นขาขึ้นชัดเจนเหมือนในปี 2552 ที่ผ่านมา กองทุนดัชนีจะสามารถทำผลตอบแทนได้ค่อนข้างดีเพราะมีนโยบายที่จะสร้างผลตอบแทนให้เกาะไปกับตลาดหุ้นอยู่แล้ว ในขณะที่กองทุนหุ้นที่เป็น Active Fund ส่วนใหญ่จะแพ้ดัชนีกัน เพราะในช่วงที่ตลาดหุ้นขึ้นมากๆ นั้น ผู้จัดการกองทุนซึ่งบริหารกองทุนหุ้นแบบ Active Fund จะต้องหาจังหวะขายทำกำไร ณ จุดใดจุดหนึ่งในช่วงที่ราคาหุ้นกำลังปรับตัวขึ้น เหมือนช่วงต้นปี 2552 ประมาณเดือนมี.ค.-พ.ค. หุ้นขึ้นมาประมาณ 50% ในแง่ผู้จัดการกองทุนต้องขายอยู่แล้ว เมื่อขายหุ้นแล้วก็ต้องหาจังหวะลงทุนใหม่อีกครั้ง ในขณะที่กองทุนดัชนีที่เป็นลักษณะของ Passive Fund นั้น จะสร้างผลตอบแทนเคลื่อนไหวไปตามดัชนี

ดังนั้น ในปีไหนที่หุ้นขึ้นมากๆ Active Fund จะแพ้  Passive Fund แต่ในปีไหนที่หุ้นนิ่งไม่ค่อยไปไหนเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน ต้นปีอยู่ 750 จุด ปลายปีอยู่ 800 จุด แบบนี้ กองทุนหุ้นแบบ Active Fund จะได้เปรียบกว่าเพราะผู้จัดการกองทุนสามารถจับจังหวะลงทุนจากความผันผวนของตลาดเพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุนได้ ในขณะที่กองทุน Passive Fund ลงทุนไปทั้งปีอาจจะแค่เสมอตัวเพราะตลาดหุ้นไม่ไปไหน

“แต่ตลาดหุ้นทุกที่ไม่ว่าจะเป็นตลาดที่พัฒนาแล้วหรือตลาดที่กำลังพัฒนาตลาดหุ้นก็ไม่ได้ผันผวนทุกปี ถ้าผันผวนทุกปีจะกลายเป็นตลาดเกิดใหม่หรือตลาดฟรอนเทียมาร์เก็ตไปซึ่งนักลงทุนสถาบันจะไม่ค่อยเข้าไปลงทุนเพราะพื้นฐานไม่ค่อยมี แต่ตลาดหุ้นโดยทั่วไปแล้วก็จะมีปีที่ตลาดขึ้น บางปีมีลง บางปีผันผวน ผสมผสานกันไป ถ้าปีไหนตลาดผันผวนหรือเป็นตลาดขาลง Passive Fund ก็จะแย่หน่อย”

ถ้านักลงทุนมีเวลาในการติดตามตลาดแล้ว การลงทุนผ่าน Passive Fund ในลักษณะของการจับจังหวะแนวโน้มเข้า-ออกก็น่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้เช่นกันเป็นลักษณะของการ Active บน Passive Fund ไป แต่หากไม่มีเวลาและเงินลงทุนมีขนาดใหญ่ไม่พอที่จะไปจับจังหวะการลงทุนในลักษณะเช่นนั้น การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนไปอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนบน Passive Fund ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ลงทุน เพราะจะทำให้ได้ต้นทุนเฉลี่ยที่ต่ำกว่าตลาดโดยรวมในระยะยาวย่อมจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนได้เช่นกัน

@ Passive Fund ตอบโจทย์ในระยะยาว

“สุริพล เข็มจินดา” กรรมการรองกรรมการผู้จัดการ บลจ.วรรณ บอกว่า ในปี 1975 “Charles Ellis” ได้เขียนบทความชื่อ “The Loser’s Game” ซึ่งถือเป็นบทความที่อิทธิพลด้านความคิดของนักลงทุนเป็นอย่างมาก ในขณะที่ “Winner’s Game” เป็นเกมที่ผลการแข่งขันถูกกำหนดโดยการกระทำของผู้ชนะ เช่น การทำคะแนนให้ได้มากที่สุดในการแข่งขัน แต่ “Loser’s Game” คือเกมที่ผลการแข่งขันถูกกำหนดโดยการกระทำของผู้แพ้   โดยการพยายามสร้างความผิดพลาดให้น้อยที่สุดในการแข่งขัน

เขามองว่า การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นลักษณะของ “Loser’s Game” เพราะการจะสร้างผลตอบแทนให้ชนะดัชนีจะยิ่งทำยากขึ้นเมื่อตลาดมีประสิทธิภาพและพัฒนาไปมากขึ้น ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือการผิดพลาดให้น้อยโดยสร้างผลตอบแทนให้ได้ใกล้เคียงกับดัชนีไปเลย ทั้งนี้ Ellis ชี้ให้เห็นในบทวิจัยว่า 85% ของนักลงทุนสถาบันไม่สามารถอาชนะดัชนี S&P500 ได้ และจากแนวคิดดังกล่าวมีส่วนผลักดันให้มีกองทุนดัชนีเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1976 ตามมา โดย Ellis เชื่อว่านักลงทุนที่เป็น Professional Money Management ไม่สามารถจะเอาชนะตลาดได้

“Ellis ชี้ในบทวิจัยว่าเมื่อก่อนการลงทุนอาจจะเป็น Winner’s Game ในช่วงยุค 1960s แต่ Winner’s Game ดังกล่าวกลับดึงดูดผู้เล่นมาในตลาดมากขึ้น จนกระทั่งการลงทุนกลายเป็นเรื่องของนักลงทุนมืออาชีพ การแข่งขันระหว่างนักลงทุนมืออาชีพส่งผลให้มีการทำวิจัยเชิงลึกมากขึ้น นอกจากนั้นการแข่งขันกันของนักลงทุนสถาบันทำให้พอร์ตโฟลิโอส่วนใหญ่มี Turnover ของหุ้นมากขึ้น สัดส่วนการซื้อขายของหุ้นมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ผลที่ตามมาคือสัดส่วนของกำไรที่น้อยลง โครงสร้างดังกล่าวทำให้การลงทุนเป็น Loser’s Game ไม่ใช่ Winner’s Game เหมือนในอดีตอีกต่อไป ดังนั้นถ้าคุณไม่สามารถจะเอาชนะตลาดได้ก็จงพอใจที่จะเกาะกระแสผลตอบแทนของตลาดไปเท่านั้นเอง ดังนั้นการลงทุนผ่านกองทุนดัชนีน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับนักลงทุน”

@ เลือก Active Fund ที่ชนะดัชนี

“ธีระ ภู่ตระกูล” ผู้ก่อตั้ง JT Financail Planners ที่มองว่า จากข้อมูลผลการดำเนินงานของกองทุนหุ้น ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2553 ย้อนหลังไป 1 ปี พบว่า กองทุนหุ้นให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 31% โดยกองทุนหุ้นที่มีผลงานดีสุดให้ผลตอบแทน 56% และกองที่มีผลงานแย่สุดให้ผลตอบแทนเพียง 2% ต่างกันอยู่ 54% ส่วนกองทุนดัชนี SET50 ให้ผลตอบแทน 32% ,ย้อนหลัง 3 ปี กองทุนหุ้นให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 17% โดยกองดีสุดให้ผลตอบแทน 48% ในขณะที่กองแย่สุดให้ผลตอบแทนติดลบ 20% ต่างกัน 68% ในส่วนกองทุนดัชนี SET50 ให้ผลตอบแทน 13% ,ย้อนหลัง 5 ปี กองทุนหุ้นให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 49% โดยกองที่มีผลงานดีสุดให้ผลตอบแทน 83% ในขณะที่กองที่มีผลงานแย่สุดให้ผลตอบแทน 24% ต่างกัน 59% ส่วนกองทุนดัชนี SET50 ให้ผลตอบแทน 45%

จะเห็นได้ว่ากองทุนหุ้น Active Fund มีผลการดำเนินงานที่แตกต่างกันมาก ทั้งที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยเหมือนกัน ในขณะที่กองทุนดัชนี SET50 ที่ผู้จัดการกองทุนทำงานน้อยกว่ากองทุนหุ้นแบบ Active Fund กลับสามารถสร้างผลตอบแทนได้ค่อนข้างดีเป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้พบว่าผู้จัดการกองทุนหุ้นกว่าครึ่งประมาณ 50% ลงทุนแพ้กองทุนดัชนี SET50

“ถ้าผู้ลงทุนจะต้องเลือกกองทุนหุ้นที่เป็น Active Fund ก็คงไม่จำเป็นต้องเลือกหมดทุกกองทุน โดยเฉพาะกองทุนที่มีผลงานแย่สุดเราก็คงไม่เลือก หรือกองทุน Active Fund ที่มีผลตอบแทนแพ้ดัชนีเราก็คงไม่เลือกเหมือนกัน ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับผู้ลงทุนในการเลือกกองทุนหุ้นลงทุนจึงควรจะเลือกกองทุนหุ้น Active Fund ที่มีผลงานดีกว่าดัชนีมากกว่า ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงทุนทุก บลจ. หรือไม่ก็เลือกลงทุนกับกองทุนดัชนี SET50 ซึ่งเป็นตัวแทนของตลาดหุ้นไปเลยจะดีกว่า เพราะเป็นการลงทุนที่มีต้นทุนที่ถูกกว่า มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างดี แล้วในแง่ของผลการดำเนินงานก็พิสูจน์แล้วว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจด้วย”

ประเด็น คือ แล้วผู้ลงทุนจะไปหากองทุน Active Fund ที่มีผลงานดีมาได้จากที่ไหน

ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้ทักษะในการเลือกเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันก็มีสถาบันที่เข้ามาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดอันดับผลการดำเนินงานของกองทุนแล้วประมาณ 3 แห่ง ได้แก่ 1. “Lipper” 2. “Moningstars” และ 3. “Phillip FundSupermart” ซึ่งพอจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของกองทุนกับผู้ลงทุนได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้บอกถึงผลการดำเนินงานในอนาคตแต่ประการใด โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารบลจ.หรือผู้จัดการกองทุนเกิดขึ้น ผู้ลงทุนต้องตรวจดูให้แน่ใจว่าผลงานที่ดีนั้นมาจากผู้จัดการกองทุนคนเดิมหรือไม่ด้วย แต่อย่างน้อยที่สุดการมีรางวัลเป็นเรื่องที่ดีซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนได้ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ระดับหนึ่ง

@ ความแตกต่างของ Active Fund

“โชติกา สวนานนท์” กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์  อธิบายว่า กองทุนหุ้นแบบ Active Fund ถ้าทำถูกต้องแล้วน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากองทุนหุ้นแบบ Passive Fund แต่กองทุน Active Fund ที่มีอยู่ก็มีผลการดำเนินงานที่แตกต่างกันมากพอสมควร เหตุผลหนึ่งน่าจะมาจาก “การจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation)” ของกองทุนหุ้นเหล่านั้นที่แตกต่างกัน คือ สัดส่วนในการถือเงินสดกับถือหุ้นที่ต่างกันของแต่ละกองทุนนั่นเอง ตรงนี้จะทำให้ผลตอบแทนของกองทุนแตกต่างกันมากได้เป็น 20%

กองทุน Active Fund ในไทยที่ผลงานต่างกันมากน่าจะมาจากจุดนี้มากกว่า เพราะหากเป็นกอง Active Fund ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นเต็มที่ (Fully Invest) เหมือนกันทั้ง 100% แล้วให้ผู้จัดการไปใช้ความสามารถในการเลือกหุ้น (Stock Selection) เพียงอย่างเดียว เชื่อว่า ผลการดำเนินงานของกองทุนหุ้นที่เป็น Active Fund จะแตกต่างกันน้อยมากประมาณ 2-3% เท่านั้น ไม่แตกต่างกันมากขนาดนี้

“ดังนั้น ในแง่ของนักลงทุนเองควรจะมีการ Active ในเรื่องของ Asset Allocation โดยกำหนดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ให้เหมาะสมกับตัวเอง แล้วก็เลือกกองทุนหุ้นเพื่อลงทุนจะเหมาะสมกว่า โดยปล่อยที่เหลือให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนในการบริหารไป แต่นักลงทุนต้อง Active ในส่วนของ Asset Allocation ของตัวเองให้ได้เท่านั้นเอง”

@ แนะลงทุนโดยใช้วัตถุประสงค์นำ

"ดร.สมจินต์ ศรไพศาล” กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย บอกว่า หากมองธรรมชาติของการลงทุนในหุ้นจะพบว่าเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีควบคู่กับความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง จากข้อมูลการลงทุนในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ปี 1975-2009 พบว่า ถ้าลงทุนในหุ้น 1 ปี จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 19.6% แต่มีกรอบการแกว่งของผลตอบแทนกว้างมากตั้งแต่ (40) - 120% ถ้าลงทุน 3 ปี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 13.4% แต่กรอบการแกว่งของผลตอบแทนจะลดลงเหลือประมาณ (30) - 60%  ถ้าลงทุนยาวขึ้นเป็น 5 ปี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 11.9% แต่กรอบการแกว่งของผลตอบแทนจะแคบลงอีกเหลือประมาณ (20) - 50% ถ้าลงทุนยาวขึ้นเป็น 10 ปี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 11.1%

โดยกรอบการแกว่งของผลตอบแทนลดเหลือ (10) - 25% ถ้าลงทุน 15 ปี จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10.7% แต่กรอบการแกว่งของผลตอบแทนจะแคบลงเหลือประมาณ (5) - 20% และหากลงทุนในตลาดหุ้นไทยยาวขึ้นเป็นระยะเวลา 20 ปี จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10.5% ในขณะที่กรอบการแกว่งของผลตอบแทนจะไม่ติดลบเลยโดยอยู่ในช่วงประมาณ 5-20%

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการลงทุนในหุ้นยิ่งระยะการลงทุนยาวนานขึ้นเท่าไร ก็จะช่วยลดความผันผวนจากการลงทุนในหุ้นให้ลดลงตามไปด้วยเท่านั้น แทนที่นักลงทุนจะใช้ “กลยุทธ์การลงทุนแบบมุ่งตลาด (Market-Driven Investment : MDI)” ที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลของตลาดเป็นสำคัญโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะใช้ประโยชน์จากความผันผวนของตลาดในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในลักษณะของการลงทุนแบบเชิงรุก (Active Management) นั้น ซึ่งจะทำให้นักลงทุนไวต่อข่าวสาร มีการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนบ่อยครั้ง และมีแนวโน้มที่จะมุ่งเน้นผลตอบแทนในระยะสั้นมากกว่า

“นักลงทุนน่าจะหันมากำหนด “กลยุทธ์การลงทุนโดยมุ่งวัตถุประสงค์ (Purpose-Driven Investment : PDI)” เป็นหลักมากกว่า โดยการตัดสินใจลงทุนจะให้ความสำคัญกับการสร้างผลตอบแทนในระยะยาวตามระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนรับได้และข้อจำกัดของผู้ลงทุนเป็นตัวกำหนด โดยมีวัตถุประสงค์การลงทุนเป็นศูนย์กลาง และมีการจัดสรรเงินลงทุนไปในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ อย่างเหมาะสม เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ และหุ้น เป็นต้น

โดยเชื่อมั่นในผลตอบแทนระยะยาวของสินทรัพย์แต่ละประเภท ทำความเข้าใจธรรมชาติของความเสี่ยงในการลงทุนผ่านสินทรัพย์แต่ละประเภทจะช่วยให้นักลงทุนบรรลุเป้าหมายในระยะยาวได้ดีขึ้น โดยมีการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนน้อยครั้งกว่าด้วย”

ไม่ว่าจะชอบกองทุนหุ้นสไตล์ไหน จะเป็น “Active Fund” หรือ “Passive Fund” ก็ตาม หากผสานกับกลยุทธ์การลงทุนที่ถูกต้องแล้ว เชื่อว่าจะตอบโจทย์การลงทุนในหุ้นของคุณได้อย่างแน่นอน