TARADTHONG.COM
เมษายน 25, 2024, 06:10:58 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: ตลาดทองดอทคอม
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  

Copy Code


หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สามเหลี่ยม(คร่า)ชีวิต  (อ่าน 4132 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
loveyou
Administrator
Full Member
*****

คะแนนความนิยม: 29
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 234



ดูรายละเอียด
« เมื่อ: พฤษภาคม 17, 2011, 03:44:10 PM »

สามเหลี่ยม(คร่า)ชีวิต

แรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงของการเกิดแผ่นดินไหวทำให้เพดานในอาคารถล่ม ความแข็งแรงของเฟอร์นิเจอร์ทำหน้าที่เสมือนคานรองรับแผ่นเพดานที่ร่วงลงมาเกิดเป็นที่ว่างรูปสามเหลี่ยม ช่วยให้ผู้ที่หลบภัยในบริเวณนี้ไม่ได้รับอันตราย
หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างรุนแรงเป็นจำนวนหลายครั้งทั่วโลก นับตั้งแต่นิวซีแลนด์ มาญี่ปุ่นจนถึงพม่าเมื่อเร็วๆนี้ ทำให้หลายคนเกิดความหวาดวิตก ผู้มีน้ำใจบางคนช่วยค้นหาข้อมูลวิธีการเอาตัวรอดระหว่างเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว รวบรวมเรียบเรียงเขียนเป็นบทความและบางคนก็ส่งเป็นฟอร์เวิร์ดเมล์กระจายต่อให้เพื่อนๆดังที่หลายๆคนอาจจะเคยได้อ่านกันมาบ้างแล้ว
บทความหนึ่งที่ถูกฟอร์เวิร์ดเมล์มากที่สุดเห็นจะได้แก่บทความเรื่อง "สามเหลี่ยมชีวิต" (Triangle of Life) เขียนโดย ดัก คอปป์ (Doug Copp) ดังจะเห็นได้ว่าบทความชิ้นนี้มีอยู่ในเว็บไซต์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (http://www.gened.chula.ac.th/cms/index.php?id=196&L=1) และเว็บไซต์ศูนย์กลางความรู้งานตำรวจเพื่อประชาชน (http://copthailand.com/content/view/17/110/) และเว็บไซต์อื่นๆอีกมากมาย ทั้งเว็บไทยและเว็บเทศ

มากประสบการณ์
ดัก คอปป์ อ้างตัวว่าเป็นหัวหน้าหน่วยกู้ภัยและผู้จัดการฝ่ายวิบัติภัยองค์กรหน่วยกู้ภัยนานาชาติแห่งอเมริกา (American Rescue Team International - ARTI) ซึ่งเป็นหน่วยกู้ภัยที่มีประสบการณ์มากที่สุดในโลก ตัวเขาเคยคลานเข้าไปในซากตึกถล่มเพื่อช่วยเหลือผู้รอดชีวิตมากกว่า 875 ครั้ง (นับตั้งแต่ปี 1985 ถึงปี 2004) มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับหน่วยกู้ภัยต่างๆกว่า 60 ประเทศทั่วโลก
ดักได้เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งแรกในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมืองเม็กซิโกซิตีเมื่อปี 1985 เขาพบว่าเด็กนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งถูกเพดานอาคารทับร่างแหลกเหลวเนื่องจากเด็กๆเหล่านั้นถูกสอนให้หลบอยู่ใต้โต๊ะเมื่อเกิดแผ่นดินไหว เมื่อตึกถล่มลงเพราะแรงสั่นสะเทือน เพดานจะร่วงลงมาในแนวดิ่ง บดขยี้ข้าวของทุกสิ่งทุกอย่าง แต่จะเว้นช่องว่างข้างๆสิ่งของเหล่านั้น สิ่งของยิ่งใหญ่ก็ยิ่งมีความแข็งแรงและโอกาสที่สิ่งของนั้นจะถูกทำลายเพราะแรงกระแทกก็ยิ่งน้อยลง ผู้ที่หลบอยู่บริเวณนี้จึงปลอดภัย
สิ่งของดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นคานรองรับเพดานที่ถล่มลงมา ทำให้เกิดช่องว่างข้างสิ่งของซึ่งเขาเรียกมันว่า "สามเหลี่ยมชีวิต" ดักกล่าวว่าเด็กๆจะสามารถรอดชีวิตได้อย่างปลอดภัยหากหลบอยู่ข้างๆโต๊ะแทนที่จะหลบอยู่ใต้โต๊ะ
ดักยังอ้างถึงโรเบอร์โต โรซาเรส (Roberto Rosales) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยทรูจิลโลและเป็นหัวหน้าหน่วยกู้ภัยสถานีตำรวจดับเพลิงทรูจิลโล โดยกล่าวว่า เมื่อโรเบอร์โตอายุ 11 ขวบ เขาติดอยู่ในซากตึกที่ถล่มลงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี 1972 คร่าชีวิตผู้คนกว่า 70,000 คน หากแต่โรเบอร์โตสามารถรอดชีวิตมาได้เพราะไปแอบอยู่ข้างรถมอเตอร์ไซค์ของพี่ชาย เมื่อเพดานหล่นลงมามันถูกรถมอเตอร์ไซค์ค้ำเอาไว้ทำให้เกิด "สามเหลี่ยมชีวิต" เขาจึงสามารถรอดชีวิตมาได้ราวปาฏิหาริย์
ในขณะเดียวกันเพื่อนๆ ของโรเบอร์โตบางคนไปหลบอยู่ใต้เตียง บางคนไปหลบอยู่ใต้โต๊ะตามที่เคยถูกสอนให้ทำ แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับโดนเพดานอัดทับจนร่างกายแหลกเหลวเสียชีวิตหมดทุกคน

วีรบุรุษ 9/11
เพื่อเป็นการพิสูจน์ทฤษฎีสามเหลี่ยมชีวิต ดักได้ทำการทดลองในประเทศตุรกีเมื่อปี 1996 โดยนำหุ่น 20 ตัวไปวางไว้ในจุดต่างๆภายในอาคารที่กำลังจะถูกระเบิดทำลาย เพื่อดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับหุ่นเหล่านี้หลังจากที่อาคารถล่มลงมา และผลการทดลองเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าหุ่นหลายตัวที่วางอยู่ข้างสิ่งของขนาดใหญ่ไม่ได้รับความเสียหาย ในขณะที่หุ่นตัวอื่นๆถูกเพดานอาคารทับจนบี้แบน
หุ่นทุกตัวที่อยู่ในตำแหน่ง "หมอบและกำบัง" (Drop And Cover) ถูกเพดานหล่นทับ ในขณะที่หุ่นที่ถูกวางในตำแหน่งสามเหลี่ยมชีวิตไม่ได้รับความเสียหายเลยแม้แต่ตัวเดียว ผลการทดลองนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหวให้หลบภัยบริเวณสามเหลี่ยมชีวิต อย่าได้หมอบใต้โต๊ะหรือใช้วิธี "หมอบและกำบัง" ตามที่คนทั่วโลกเขาใช้กัน
วันที่ 13 กันยายน 2001 ดักได้เดินทางไปช่วยค้นหาผู้รอดชีวิตในเหตุการณ์วินาศกรรมอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เขาเป็น 1 ในพนักงานกู้ภัยเพียง 4 คนเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปค้นหาใต้กองซากปรักหักพัง สถานที่ที่สุดแสนอันตรายทั้งความเสี่ยงจากการถล่มลงมาของเศษซากอาคารและการปนเปื้อนไปด้วยสารพิษมากมายหลายชนิด
ดักช่วยเหลือผู้รอดชีวิตได้มากกว่า 40 คน แต่นั่นก็ต้องแลกกับความเจ็บป่วยที่เขาได้รับจากการสัมผัสกับสารพิษเป็นเวลานาน รัฐบาลได้จ่ายชดเชยค่ารักษาพยาบาลให้เป็นจำนวนเงิน 649,885 ดอลลาร์ หรือเกือบๆ 20 ล้านบาท แต่ถึงกระนั้นดักก็ยังบอกว่ามันไม่เพียงพอ โดยเขาจะต้องใช้เงินอีกอย่างน้อย 1 ล้านดอลลาร์ในการรักษาพยาบาลโรคต่างๆ 41 ชนิดที่ได้รับจากการเข้าไปในซากตึกเมื่อคราวนั้น

ช่วยชีวิตหรือคร่าชีวิต
เมื่อเกิดเหตุการณ์ตึกถล่ม สถานที่แรกที่หน่วยกู้ภัยจะเข้าไปค้นหาผู้รอดชีวิตคือบริเวณที่เรียกว่า "ช่องว่างช่วยชีวิต" (Life Safe Void) เป็นช่องว่างท่ามกลางกองซากปรักหักพัง โดยมากจะเกิดจากการที่เพดานตกลงมาบนสิ่งของแล้วเอียงไหลลงด้านข้างเกิดช่องว่างระหว่างสิ่งของและเพดาน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ดักเรียกมันว่า "สามเหลี่ยมชีวิต"
สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ ช่องว่างช่วยชีวิตเกิดขึ้นหลังจากตึกถล่ม ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าตำแหน่งไหนในอาคารจะเกิดช่องว่างช่วยชีวิต แต่ถ้าหากว่ามี มันก็จะเป็นจุดแรกที่หน่วยกู้ภัยจะเข้าไปค้นหา เพราะสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าจุดอื่นๆและโอกาสพบผู้รอดชีวิตมีสูงกว่าตำแหน่งอื่น
ส่วนสามเหลี่ยมชีวิตนั้นเป็นตำแหน่งที่ดักคาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้าก่อนที่ตึกถล่ม ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วมันเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าตำแหน่งไหนในอาคารจะเกิดสามเหลี่ยมชีวิต แต่ถ้าหากมีใครหยิบยกการทดลองในตุรกีขึ้นมาเป็นข้อโต้แย้งก็ขอให้รับทราบเสียก่อนว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ใช่การทดลองตามที่ดักกล่าวอ้าง
หน่วยกู้ภัยประเทศตุรกีได้ทำการฝึกซ้อม โดยขออนุญาตเจ้าของตึก นำหุ่น 20 ตัวไปวางที่ตำแหน่งต่างๆภายในอาคาร หลังจากที่ทีมวิศวกรวางระเบิดไว้ตามเสาและทำการระเบิดตึกให้ถล่มลงในแนวดิ่ง หน่วยกู้ภัยตุรกีก็เข้าไปฝึกซ้อมการค้นหาผู้รอดชีวิตโดยมีดักเป็นหนึ่งในหน่วยกู้ภัยที่ขอฝึกร่วมกับหน่วยกู้ภัยตุรกี
ประเด็นก็คือ การระเบิดตึกนั้นเป็นการทำให้อาคารทั้งหลังพังลงในแนวดิ่งในคราวเดียวไม่มีการโยกคลอนของอาคาร แต่การเกิดแผ่นดินไหวนั้นมีการโยกคลอนของอาคารก่อนที่อาคารจะถล่ม ถ้าผู้ประสบภัยพยายามใช้วิธีหลบใน "สามเหลี่ยมชีวิต" เช่น การนั่งพิงกำแพง หรือแอบอยู่ข้างตู้ เมื่ออาคารโยกเอียง พวกเขามีโอกาสที่จะถูกสิ่งของไหลมากระแทกอัดแบนติดกำแพงหรือถูกตู้ล้มลงมาทับ
มาร์ลา เพตอล (Marla Petal) ผู้อำนวยการศูนย์ ให้ความรู้การลดความเสี่ยงจากเหตุพิบัติภัย ประเทศตุรกี พบว่าการเกิดแผ่นดินไหวแต่ละครั้งอาคารที่ถล่มลงในแนวดิ่งมีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หรือจะว่าไปแล้วก็คือถ้าหากใครพยายามใช้สามเหลี่ยมชีวิตหลบภัยขณะเกิดแผ่นดินไหว พวกเขาจะมีโอกาสรอดชีวิตแค่ 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นนั่นเอง

ฉีกหน้ากากวีรบุรุษ
ดักเขียนคำแนะนำ 10 ข้อในการปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งถูกผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยกู้ภัยระดับชาติหลายหน่วยงานโต้แย้งว่าการปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นเส้นทางพาไปสู่ความหายนะทั้งสิ้น แต่จะไม่ขอนำรายละเอียดมาเล่าให้ฟังเนื่องจากแค่คำแนะนำ 10 ข้อก็มีเนื้อหาที่ยาวสมควร อีกทั้งคำโต้แย้งของผู้เชี่ยวชาญนั้นมีเหตุผลและหลักฐานอ้างอิงยิ่งทำให้เนื้อหายาวมากจนเนื้อที่ของคอลัมน์ไม่พอจะลง แต่ถ้าใครอยากค้นคว้าเพิ่มเติมก็แนะนำให้ดาวน์โหลดบทความของมาร์ลา เพตอล ได้ที่ http://www.cert-la.com/RejoinderToDougCopp.pdf
ปี 2004 หนังสือพิมพ์ Albuquerque Journal ขุดคุ้ยวีรกรรมของดักจากเหตุการณ์ 9/11 และพบสิ่งไม่ชอบมาพากลหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่การที่ดักอ้างว่าได้บินจากรัฐนิวเม็กซิโกมาช่วยค้นหาผู้รอดชีวิตในรัฐนิวยอร์กนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะในช่วงเวลานั้นรัฐบาลสั่งห้ามเครื่องบินพลเรือนขึ้นบินเพราะเกรงว่าจะมีการก่อวินาศกรรมด้วยเครื่องบินซ้ำรอย แต่ดักจะเดินทางมานิวยอร์กด้วยวิธีไหนและทำไมเขาถึงต้องแอบอ้างว่าเดินทางมาโดยเครื่องบินนั้นไม่ทราบได้
จอห์น นอร์แมน (John Norman) หัวหน้าหน่วยดับเพลิงนิวยอร์ก ซึ่งรับหน้าที่หัวหน้าทีมกู้ภัยในวันเกิดเหตุ ปฏิเสธว่าอนุญาตให้ดักเข้าไปค้นหาผู้รอดชีวิตในซากปรักหักพัง และถ้าเขารู้ว่าดักเข้าไปใกล้ซากตึกในตอนนั้นเขาจะจับโยนออกมาโดยทันที
เชส ซาร์เจนต์ (Chase Sargent) ผู้บังคับการกองพันกู้ภัยของหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินกลาง FEMA ยืนยันว่าเขาได้พาตัวดักออกจากที่เกิดเหตุด้วยตัวเอง เพราะไม่ต้องการให้ผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าใกล้ที่เกิดเหตุ สิ่งที่ดักใช้เป็นหลักฐานว่าเขาเข้าไปช่วยค้นหาผู้รอดชีวิตในเหตุการณ์ 9/11 คือภาพถ่ายบริเวณสถานที่เกิดเหตุและเรื่องบอกเล่าของเขาเอง ทอม ยูดัลล์ (Tom Udall) วุฒิสมาชิกรัฐนิวเม็กซิโก กำลังดำเนินเรื่องให้มีการสืบสวน ดัก คอปป์ หากเรื่องราวนี้มีมูลความจริง ดักจะถูกดำเนินคดีข้อหาฉ้อฉล
สภากาชาดอเมริกัน และองค์กรกู้ภัยสากลหลายหน่วยงานทั่วโลกออกแถลงการณ์โต้แย้ง "สามเหลี่ยมชีวิต" และแนะนำให้ผู้ประสบภัยป้องกันตัวขณะเกิดแผ่นดินไหวด้วยการหมอบ-กำบัง-รอจนกว่าเหตุการณ์สงบ (Drop-Cover-Hold On) ซึ่งเป็นที่แปลกใจว่าไม่มีใครพูดถึงคำแนะนำของหน่วยงานสากลเหล่านี้ แต่กลับไปเชื่อเรื่อง "สามเหลี่ยม(คร่า)ชีวิต" กันเป็นตุเป็นตะ

ที่มา "การศึกษาวันนี้"
บันทึกการเข้า

รักนะ...จุ๊บ จุ๊บ
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


Powered by MySQL Powered by PHP Valid XHTML 1.0! Valid CSS!