ประเด็นร้อน...คนซื้อที่ดินต้องรู้...! ติดบ่วงแก๊ง "ออกโฉนดมิชอบ" เจอข้อหาฟอกเงิน-ยึดทรัพย์
จากนี้ไปนักธุรกิจ นักลงทุน หรือผู้ที่ต้องการซื้อที่ดิน โดยเฉพาะในทำเลสุ่มเสี่ยงที่เป็นภูเขา ป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ ที่สาธารณะ จะต้องตรวจสอบให้ดี เนื่องจากที่ดินผืนงามเหล่านั้นอาจมีการ ออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ และยังอาจติดบ่วงขบวนการ "ฟอกเงิน" เพราะไปซื้อทรัพย์สิน (ที่ดิน, โฉนด, น.ส.3 ก.) ที่เกิดจากการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ที่ดิน
การสัมมนาเรื่อง "การบังคับใช้กฎหมายฟอกเงินในคดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบ" ซึ่งจัดโดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และผู้ทรงคุณวุฒิจาก 8 หน่วยงาน มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า
"ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ที่ดิน โดยประชาชนผู้ที่ได้รับเอกสารสิทธิและเป็น ผู้ครอบครองที่ดิน เป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ที่ดินให้กระทำความผิด ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542"
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 ระบุว่า ผู้ใดโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อน ขณะหรือหลังการกระทำความผิด หรือ กระทำการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงในการได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่ายจ่ายโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดผู้นั้น "กระทำความผิดฐานฟอกเงิน"
ศาสตราจารย์วีระพงษ์ บุญโญภาส ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอาชญากรรมทางธุรกิจและการฟอกเงิน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการจะตรงกับความผิดมูลฐานที่ 5 ของมาตรา 3 (5) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ
ส่วนการนำ "ทรัพย์สิน" คือที่ดินและเอกสารสิทธิที่ออกมาโดยมิชอบ มาขายหรือจำหน่ายต่อไปนั้น "เงิน" ที่ได้มาจากการขายที่ดินถือว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เพราะผู้กระทำความผิดมีเจตนาจะใช้ทรัพย์สินเป็นสำคัญในการกระทำผิด
สำหรับเงินที่ได้มาจากการขายที่ดินจะเข้ากฎหมายฟอกเงิน และเมื่อที่ดินถูกเพิกถอนแล้วย่อมกลับเป็นที่ดินของรัฐ
ศาสตราจารย์วีระพงษ์ยังระบุด้วยว่า เหตุผลที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับที่ดินเป็นจำนวนมาก เกิดจากปัจจัย 1) ราคาที่ดินในปัจจุบันสูงขึ้น ขณะที่พื้นที่ของประเทศมีขนาดคงเดิมและประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการที่ดินเพิ่มขึ้น
2) การซื้อขายที่ดินสามารถอำพรางหรือปกปิดเงินที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย จึงนำมาซื้อที่ดินได้ง่าย กฎหมายจึงต้องให้มีการรายงานธุรกรรม
3) วิธีการฟอกเงินของประเทศที่กำลังพัฒนา คือการใช้ที่ดินเป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน 4) เป็นความผิดที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนมาก แต่สร้างผลตอบแทนได้สูง และ 5) เป็นความผิดที่สามารถใช้อิทธิพลมาครอบงำการทำงานของกระบวนการยุติธรรมได้ง่าย
นอกจากนี้ หน่วยงานแห่งหนึ่งได้สำรวจทรัพย์สินและสิ่งก่อสร้างที่มีความไม่โปร่งใสเข้าข่ายฟอกเงินทั่วประเทศประมาณ 1,800 แปลง เนื้อที่ประมาณ 6,000 ไร่ มูลค่ารวมประมาณ 2,000 ล้านบาท เช่น พื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 243 แปลง เนื้อที่ 79 ไร่ ภาคอีสาน 394 แปลง เนื้อที่ 1,367 ไร่ ภาคเหนือ 274 แปลง เนื้อที่ 843 ไร่ ภาคตะวันออก 108 แปลง เนื้อที่ 250 ไร่ ภาคใต้ 180 แปลง เนื้อที่ 1,600 ไร่เศษ และภาคกลาง 114 แปลง เนื้อที่ 1,493 ไร่
ขณะเดียวกัน กรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็พบข้อมูลการกระทำความผิดเกี่ยวกับ การออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ และ ร่วมกันกระทำความผิดกฎหมายฟอกเงินเฉพาะในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อีกไม่น้อยกว่า 9 คดี
รศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผู้กระทำคือเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนผู้ที่ให้สินบน ทรัพย์สินเหล่านี้ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด การนำเอกสารสิทธิที่ออก โดยมิชอบมาหาประโยชน์ เท่ากับเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และควรเพิกถอนให้กลับมาเป็นที่ดินของรัฐ และหาก ยังไม่เพิกถอนก็สามารถยึดคืนกลับมาได้
"การเอาที่ดินไปขายถือเป็นการฟอกเงิน เพราะเป็นการให้สินบนกับเจ้าพนักงาน สามารถนำหลัก "ถ้าไม่ทำ ผลไม่เกิด" ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ทุจริตก็ไม่ได้เงิน และไม่สามารถออกเป็นเอกสารสิทธิได้ ในการ ยึดเงินสามารถยึดได้ 2 ส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่และส่วนของผู้สนับสนุน ดังนั้นเงินที่ได้มาทั้งหมดจึงเข้ากฎหมายฟอกเงิน"
นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล รองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ กล่าวว่า การนำเอาที่ดินของรัฐ เช่น ที่ภูเขา ป่าสงวนแห่งชาติ มาออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบนั้น เช่น ใช้วิธี ส.ค.1 บิน หรือบวม เจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมรู้อยู่แล้วว่าที่ดินนั้นเป็นของรัฐ ถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หากเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ค่าตอบแทนในการออกเอกสารสิทธิถือเป็นเงินสินบน ซึ่งถือว่าเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่อันเป็นความผิดมูลฐาน การฟอกเงิน
"ส่วนเอกชนที่ได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบ ที่ดินนั้นจึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน และเมื่อมีการโอน, ขายต่อ ๆ กันไปเป็นทอด ๆ ก็เป็นทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดด้วย"
ถ้าการสอบสวนชัดเจนว่าเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด แม้ว่าจะเป็นที่ดินของรัฐก็ตาม หากขายแล้วได้เงินมาก็เป็นการฟอกเงิน และมีข้อสังเกตว่าในความผิดอาญาฐานฟอกเงินในการสอบสวนจะต้องพิจารณาถึงการมีผลบังคับใช้ของกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งมีผลบังคับใช้หลังวันที่ 19 สิงหาคม 2542 เพราะกฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลัง หากมีการกระทำความผิดอาญาฐานฟอกเงินหลังวันที่ 19 ส.ค. 2542 ก็สามารถดำเนินคดีฐานฟอกเงินได้
นี่คือประเด็นสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อที่ดินจะต้องระมัดระวังตรวจสอบอย่างรอบคอบ เพราะหากพิสูจน์ได้ว่าโฉนดออกโดยมิชอบและเข้าข่ายการฟอกเงิน
ไม่ว่าที่ดินแปลงนั้นจะถูกซื้อขายโอนไปกี่มือแล้วก็ตาม ในที่สุดแล้วจะต้องถูกเพิกถอนกลับไปเป็นของแผ่นดิน และผู้ซื้อที่ดินโดยสุจริตจะต้องไปฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับผู้ที่ขายที่ดินให้ตนเองต่อไป
หน้า 12
http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02phu01090853§ionid=0211&day=2010-08-09วันที่ 09 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4234 ประชาชาติธุรกิจ