หัวข้อ: ที่ประชุมจี20-IMF ตอบโจทย์วิกฤติหนี้ยุโรป เริ่มหัวข้อโดย: น่ารักสุดๆ ที่ กันยายน 29, 2011, 05:15:03 PM ที่ประชุมจี20-IMF ตอบโจทย์วิกฤติหนี้ยุโรป
วันพุธที่ 28 กันยายน 2011 เวลา 11:54 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก - ประเทศสมาชิกยูโรโซนกำลังหาทางเพิ่มขีดความสามารถของกองทุนช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหาทางการเงิน หลังจากถูกแรงกดดันจากหลายประเทศในการประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มจี 20 ร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลกเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า สหรัฐอเมริกาและประเทศยักษ์ใหญ่อื่นๆ ได้อาศัยเวทีการประชุมประจำปีของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกที่กรุงวอชิงตันช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กดดันให้ผู้นำชาติยุโรปเพิ่มขนาดของกองทุนช่วยเหลือมูลค่า 4.4 แสนล้านยูโร โดยอาศัยวิธีการใช้อำนาจทางการเงิน (leverage) เพิ่มมูลค่าของกองทุนดังกล่าว เดอะ ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานว่ามีความเป็นไปได้ที่มูลค่าของกองทุนอาจจะเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 1-3 ล้านล้านยูโร ขณะที่นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่เชื่อว่าตัวเลขดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านยูโร เนื่องจากขนาดของตลาดพันธบัตรอิตาลี ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก อยู่ที่ 1.6 ล้านล้านยูโร อย่างไรก็ดี การเจรจาในเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าแต่ละประเทศจะได้รับการสนับสนุนในทางการเมืองหรือไม่ เจ้าหน้าที่ทางการเยอรมนีกล่าวว่าแนวคิดดังกล่าวจะไม่ได้รับการอนุมัติตราบใดที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ยังคงคัดค้าน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของประเทศสมาชิกยูโรโซนบางประเทศหวังว่าอีซีบีอาจจะผ่อนคลายจุดยืนลงภายใต้การบริหารงานของนายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบีคนใหม่ รัฐบาลสหรัฐฯ เร่งรัดให้ผู้นำยูโรโซนรีบดำเนินการเพื่อลดความวิตกของตลาด แต่การคัดค้านจากเยอรมนีและประเทศทางตอนเหนือของยูโรโซนบ่งชี้ว่าคงจะไม่มีการบรรลุข้อตกลงใดๆ ก่อนการประชุมสุดยอดจี 20 ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ นายอามาเดอู อัลทาฟัจ-ทาร์ดิโอ โฆษกของคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวยืนยันว่ากำลังมีการพูดคุยกันถึงวิธีการขยายประสิทธิภาพของกองทุนช่วยเหลือ พร้อมกับกล่าวว่านายโอลลี เรห์น กรรมาธิการยุโรปฝ่ายเศรษฐกิจและการเงิน แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในที่ประชุมที่กรุงวอชิงตันว่ายูโรโซนกำลังพิจารณาใช้อำนาจทางการเงินเพิ่มมูลค่าของกองทุนดังกล่าว อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ทางการยุโรปบางรายกล่าวว่าแผนการขยายกองทุนจะถูกนำมาพิจารณาเมื่อรัฐสภาของสมาชิกยูโรโซนทั้ง 17 ประเทศอนุมัติข้อตกลงเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมในการเพิ่มขนาดของกองทุนเป็น 7.8 แสนล้านยูโร รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถของกองทุนให้สามารถนำไปใช้ซื้อพันธบัตรในตลาดรอง และให้การสนับสนุนทางการเงินกับรัฐบาลในการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารแล้วเท่านั้น นายมาร์ติน คอตเธาส์ โฆษกกระทรวงการคลังของเยอรมนี กล่าวว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขยายขนาดกองทุนช่วยเหลือด้วยการใส่เงินเข้าไปเพิ่มเติมจากที่ตกลงกันไว้ เนื่องจากเกิดความเกรงกลัวว่าการเพิ่มเงินในกองทุนอาจส่งผลต่อการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศอย่างฝรั่งเศส เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินของประเทศ เยอรมนีไม่มีทีท่าคัดค้านการใช้อำนาจทางการเงินเพิ่มมูลค่าของกองทุน แต่แหล่งข่าวใกล้ชิดกับรัฐบาลเยอรมนีกล่าวว่าเยอรมนีมองเห็นปัญหาหลายประการในการนำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ และปฏิเสธที่จะถูกบีบให้รีบตัดสินใจก่อนรัฐสภาจะลงมติว่าจะรับข้อตกลงในวันที่ 21 กรกฎาคมหรือไม่ในวันที่ 29 กันยายนนี้ นักลงทุนตั้งคำถามว่ากองทุนช่วยเหลือมีขนาดใหญ่เพียงพอในการตอบสนองวิกฤติหนี้ในยุโรปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เมื่อประเทศขนาดใหญ่ขึ้น อาทิ อิตาลีและสเปน กำลังเผชิญกับแรงกดดันเรื่องต้นทุนกู้ยืม อีซีบีพยายามซื้อพันธบัตรของทั้งสองประเทศเพื่อควบคุมอัตราผลตอบแทน แต่เตือนว่าจะไม่ดำเนินมาตรการซื้อพันธบัตรเป็นเวลานาน นายจิม รีด นักยุทธศาสตร์จากดอยช์ แบงก์ ให้ความเห็นว่า "ถ้ามาตรการดังกล่าวได้รับการอนุมัติอย่างเต็มที่ มันจะเป็นความคืบหน้าในทิศทางบวกมากที่สุดอย่างแน่นอน" อย่างไรก็ตาม รีดเสริมว่าหลังจากตัวเลขทางเศรษฐกิจล่าสุดแสดงให้เห็นว่ายุโรปกำลังเสี่ยงที่จะก้าวเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย "ผมยังไม่คิดว่ามันเป็นการแก้ปัญหาความกังวลเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ" ++ กรีซโต้ไม่ผิดนัดชำระหนี้ ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการคลังกรีซ กล่าวในวันจันทร์ (26 ก.ย.) ตอบโต้ข่าวลือเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน นายอีวานเจลอส เวนิเซลอส รัฐมนตรีคลังของกรีซ กล่าวที่กรุงวอชิงตันว่า แผนการสับเปลี่ยนพันธบัตรที่กำลังจะสิ้นอายุเป็นพันธบัตรที่มีอายุยาวขึ้นเป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้ ด้านนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการปล่อยให้กรีซต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องผิดนัดชำระหนี้ ได้กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นของเยอรมนีว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะสร้างความตื่นตระหนกต่อระบบการเงินคล้ายกับการล้มของเลห์แมน บราเธอร์ส ในปี 2551 "เราสามารถดำเนินมาตรการที่เราควบคุมได้เท่านั้น ถ้าหากกรีซจุดชนวนวิกฤติการเงินครั้งใหม่ นักการเมืองอย่างเราจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ" นางแมร์เคิล กล่าว นางแมร์เคิลมีกำหนดประชุมร่วมกับนายจอร์จ ปาปันเดรอู นายกรัฐมนตรีของกรีซในเย็นวันอังคาร (27 ก.ย.) เพื่อพูดคุยกันถึงความคืบหน้าในการลดการขาดดุลงบประมาณของกรีซ ตัวแทนจากสหภาพยุโรป อีซีบี และไอเอ็มเอฟ มีกำหนดเดินทางไปประเมินสถานการณ์ของกรีซในสัปดาห์นี้ว่าจะอนุมัติเงินช่วยเหลืองวดถัดไปเป็นมูลค่า 8 พันล้านยูโรหรือไม่ โดยถ้าปราศจากเงินก้อนดังกล่าว กรีซจะไม่มีเงินสำหรับชำระหนี้ตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป +++ธนาคารยุโรปเผชิญแรงกดดันระลอกใหม่ ตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารยุโรปประสบปัญหาไม่สามารถขายพันธบัตรให้กับนักลงทุนได้ในราคาที่เหมาะสม เนื่องจากนักลงทุนไม่มั่นใจในความเสี่ยงของธนาคารต่อพันธบัตรรัฐบาลยูโรโซนและเงินกู้อื่นๆ ทำให้ในเวลานี้ผู้สังเกตการณ์ในตลาดเป็นกังวลว่า ปัญหาการระดมทุนของธนาคารจะยืดเยื้อหรืออาจจะเลวร้ายลงไปจนถึงปี 2555 และอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อธุรกิจธนาคาร ธนาคารส่วนใหญ่กล่าวว่าสามารถหาเงินได้เพียงพอสำหรับใช้ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี และมีช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำรอง อาทิ เงินสดของธนาคารกลาง เพื่อรองรับความจำเป็นในการลงทุนในแต่ละวัน กระนั้นนักวิเคราะห์ก็ประเมินว่าธนาคารทั้งหลายกำลังเผชิญกับหนี้ก้อนโตเป็นมูลค่ารวมเกือบ 8 แสนล้านยูโรที่ครบกำหนดชำระในปีหน้า โดยหนี้ส่วนใหญ่จะต้องถูกสับเปลี่ยนเป็นหนี้ใหม่ ซึ่งถ้าธนาคารไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ พวกเขาอาจจะต้องถูกบีบให้ลดงบดุลด้วยการขายสินทรัพย์หรือควบคุมการปล่อยกู้ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงของระบบธนาคารยุโรปมุ่งเน้นไปที่ตลาดเงินทุนระยะสั้น ผู้ปล่อยเงินกู้ให้กับธนาคารเหล่านี้เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยเงินกู้ยกเว้นการปล่อยกู้ในระยะสั้นมากๆ เท่ านั้น ซึ่งส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวว่าธนาคารขนาดใหญ่ในยุโรปอาจประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง แม้ว่าความกังวลดังกล่าวจะยังคงอยู่ แต่ก็บรรเทาลงไปบ้างเมื่อธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) พร้อมปล่อยกู้ให้กับธนาคารที่ไม่สามารถระดมทุนได้จากแหล่งอื่น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กล่าวว่ามาตรการดังกล่าวลดโอกาสที่ธนาคารขนาดใหญ่จะล้มลงอย่างมาก อย่างไรก็ดีเวลานี้นักวิเคราะห์ นักลงทุน และเจ้าหน้าที่ธนาคารจำนวนหนึ่ง กลับวิตกเกี่ยวกับความสามารถในการออกตราสารหนี้ระยะกลางและระยะยาวแทน ซึ่งถ้าหากสภาพการณ์ดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป ธนาคารอาจถูกบีบให้ลดการปล่อยกู้และกิจกรรมอื่นๆ ลงอย่างมาก ซึ่งนักวิเคราะห์กล่าวว่าอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความกดดันให้อีซีบีต้องเร่งหามาตรการรับมือ อีซีบีมีหลายทางเลือกในการลดความตึงตัวในการระดมเงินทุนระยะยาว หนึ่งในนั้นคือการซื้อเวลาด้วยการขยายอายุเงินกู้ที่ปล่อยให้กับธนาคารพาณิชย์เป็นหนึ่งปี จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,674 29 กันยายน - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554 |