เจาะลึกชีวิต กรรณิกา ธรรมเกษร อดีตพิธีกรชื่อดัง
ย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบปีก่อน ไม่มีใครไม่รู้จักรายการ "ทีวี วาที" และรายการ "โต้คารมมัธยมศึกษา" ที่มี "กรรณิกา ธรรมเกษร" เป็นหนึ่งในทีมพิธีกรฝีปากกล้า ยุคนั้นเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของเธอ ทั้งงานพิธีกร ผู้ประกาศข่าว งานแสดงละครหลั่งไหลเข้ามาหาเธอไม่ขาดระยะ ก่อนที่เธอจะหายไปจากหน้าจอโทรทัศน์ และแทบไม่มีใครรู้เลยว่า ช่วงที่เธอเงียบหายไปนั้น เธอต้องเผชิญกับมรสุมลูกใหญ่ ชีวิตที่รุ่งโรจน์ในอดีตเกือบจะต้องจบลงด้วยการฆ่าตัวตายเพื่อตัดปัญหา วันนี้กระปุกจะพาไปสัมผัสชีวิตของเธอกันค่ะ
"กรรณิกา ธรรมเกษร" หรือ "แอ้" อดีตพิธีกรชื่อดังที่ปัจจุบันอยู่ในวัย 61 เป็นชาวกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด จบปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ (แผนกภาษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มเข้าสู่วงการจอแก้วในฐานะสื่อมวลชนตั้งแต่ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 ด้วยตำแหน่งผู้ประกาศข่าวที่ ช่อง 4 บางขุนพรหม และเมื่อจบการศึกษาจึงได้เข้าทำงานเป็นหัวหน้าแผนกผู้ประกาศที่ช่อง 3 ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้น
ด้วยความสามารถทางการพูด และคารมที่ไม่เป็นรองใคร ทำให้กรรณิกาได้รับเกียรติเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์หลายรายการ รวมทั้งได้แสดงละครทางช่อง 3 อีกด้วย จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของช่อง 3 ไปโดยปริยาย แต่หลังจากทำงานกับช่อง 3 ได้ 17 ปี ในปี พ.ศ.2530 กรรณิกาตัดสินใจลาออก และข้ามวิกมาช่อง 9 ร่วมงานกับ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ที่บริษัทแปซิฟิก ในช่วงที่ ดร.สมเกียรติ กำลังปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอข่าว โดยเธอรับหน้าที่เป็นผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์คู่กับ ดร.สมเกียรติ และเธอมักจะจบรายการข่าวด้วยการแสดงภาษามือเพื่อสื่อสารกับผู้พิการทางหู ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัล "เพื่อคนพิการ" จากสมาคมโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2532
นอกจากนี้กรรณิกายังเปิดบริษัทภาษรโปรดักชั่น จำกัด ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ และบริษัทฟีนิกซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด อีกทั้งยังรับงานพิธีกรหลายรายการ โดยเฉพาะรายการโต้วาทีที่มีผู้ชมทั้งประเทศ และสร้างชื่อเสียงโด่งดังให้กับเธอ ไม่ว่าจะเป็นรายการ "ทีวี วาที" ทางช่อง 5 หรือ "โต้คารมมัธยมศึกษา" ฯลฯ
แต่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตก็เกิดขึ้น เมื่อในปี พ.ศ.2540 ประเทศไทยประสบกับวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ภาคธุรกิจและบริษัทหลายแห่งล้มระเนระนาดอย่างไม่ทันตั้งตัว บริษัทของกรรณิกาก็โดนหางเลขไปด้วย จนต้องหยุดกิจการและมีหนี้สิ้นท่วมตัวกว่า 40 ล้านบาท อีกทั้งหมายศาลที่ส่งถึงกรรณิกามีไม่เว้นแต่ละวัน ครั้งนั้นเธอตัดสินใจขายทรัพย์สมบัติของตัวเองเพื่อเอาไปใช้หนี้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ
วิบากกรรมของเธอยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น เมื่อเธอถูกลูกศิษย์ที่ไว้ใจหักหลัง แอบอ้างชื่อบริษัทของเธอไปรับงานเองโดยที่เธอไม่รู้เรื่อง เธอจึงตัดสินใจหันหลังให้กับวงการสื่อมวลชน และไปเริ่มเดินเส้นทางสายการเมืองแทน โดยการลงรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ.2544 ที่พื้นที่เขต 4 พญาไท ในนามพรรคไทยรักไทย แต่ก็ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ก่อนจะลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ.2548 เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร แต่การตัดสินใจครั้งนั้นกลับทำให้เธออกหักจากสนามการเมืองอีกเป็นครั้งที่ 2
โชคชะตายิ่งเล่นตลกขึ้นไปอีก เพราะแม้ผ่านพ้นเรื่องงานมาได้ แต่ปัญหาส่วนตัวก็ยังเข้ามารุมเร้า เมื่อเธอต้องแยกทางกับคนรักที่คบกันมาหลายสิบปี หนำซ้ำยังต้องต่อสู้กับปัญหาสุขภาพ จากโรคเนื้องอกที่กระดูกสันหลังจนต้องเข้ารับการรักษาตัวนานนับปี แม้วันนี้อาการจะดีขึ้น แต่ก็ต้องรับการดูแลตามขั้นตอนของแพทย์อย่างใกล้ชิด
มรสุมทั้งหมดที่ประดังเข้ามาพร้อมๆ กัน เกือบทำให้ชีวิตของลูกผู้หญิงคนหนึ่งแบกรับไม่ไหวกับทางที่มืดแปดด้าน ขณะนั้นเองกรรณิกาเกือบจะเลือกทางออกของปัญหาด้วยการทำลายชีวิตของตัวเอง แต่ในที่สุดฟ้าก็ดลใจให้เธอคิดได้และลุกขึ้นมาต่อสู้อีกครั้ง
ครั้งนี้ทำให้กรรณิกาหันกลับมานั่งทบทวนปัญหาของตัวเอง และค่อยๆ แก้ไปทีละเปลาะ จนฝ่ามรสุมของชีวิตมาได้ ปัจจุบันเธอใช้ชีวิตอย่างสงบสุขโดยมีแสงสว่างจากธรรมะเป็นผู้นำทาง
ชีวิตส่วนตัว กรรณิกาได้สมรสกับสามีคนแรกซึ่งเป็นนักบินพาณิชย์ มีลูกชายหญิงด้วยกัน 2 คน และหย่าขาดกันในเวลาต่อมา ก่อนจะหมั้นกับฮาร์ดมุต วิดเดอร์ ชาวเยอรมัน แต่ปัจจุบันแยกทางกันไปแล้ว
รางวัล และเกียรติคุณที่ได้รับ
โล่ห์รางวัล "คนดีศรีสังคม"จากมูลนิธิ ศาสตราจารย์ประภาสน์ อวยชัย เพื่อการสังคมสงเคราะห์และการพัฒนาสังคม
โล่ห์เกียรติคุณจากมูลนิธิ หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติงานดีเด่นเพื่อคนพิการด้วยความเข้มแข็งเสียสละ
เกียรติบัตร และโล่ห์ชูเกียรติในฐานะที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำประโยชน์ ด้านวิชาภาษาไทยจากกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
เข็มกลัดเพชรในฐานะผู้ทำงานดีเด่น ช่อง 3 อ.ส.ม.ท.
เป็นตัวแทนศิลปินไทยช่อง 3 ไปแลกเปลี่ยนศิลปะกับศิลปินอาเซียน ปี พศ.2520
รางวัลเมขลาผู้อ่านข่าวหญิงดีเด่นคนแรก ปี 2523
รางวัลตุ๊กตาทองมหาชน พิธีกรหญิงดีเด่น ปี 2527 (รายการเวที-วาที)
รางวัลเสาอากาศทองคำ ผู้ดำเนินรายการหญิงดีเด่น ปี 2529 และ 2541
รางวัล "เพื่อคนพิการ" จากสมาคมโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทยในฐานะที่เป็นโฆษกทีวีคนแรก ผู้สนับสนุนใช้ภาษามือสื่อสารเพื่อคนหูหนวก ในรายการทางโทรทัศน์ ปี 2532
ประกาศเกียรติคุณสดุดี ในฐานะผู้ผลิตผลงานสื่อมวลชนดีเด่นเพื่อเยาวชน ประจำปี 2535-2536
รางวัล "เพชรสยาม 36" ซึ่งเป็นรายการที่จุดประกายกระตุ้นสำนึกในเอกลักษณ์ไทยแก่ส่วนรวม ปี 2537