ภาษี เรื่องที่คุณไม่ควรละเลย
"นี่! เธอ ภ.ด.ง.91 คืออะไรหรอ เห็นคนอื่นพูดกันเยอะเหมือนกัน มันคือการเสียภาษีหรือเปล่า แล้วอย่างพนักงานเงินเดือนแบบเราจะต้องเสียภาษีหรือเปล่า ต้องเสียเท่าไหร่ เสียตอนไหน เออ...แล้วก็ได้ยินว่า มีการลดหย่อนภาษี และมีการได้เงินภาษีคืนด้วยนี่" คำถามนี้ถูกกรอกรัวลงไปในโทรศัพท์ ป่านนี้คนปลายสายคงมึน ไม่รู้จะเริ่มตอบคำถามยังไง เอาเป็นว่าเราจะมาเป็นผู้ตอบคำถามให้เอง
ภ.ง.ด.91
ภ.ง.ด.91 หรือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็คือ เงินเดือนของการจ้างแรงงาน ในกรณีของพนักงานเงินเดือนอย่างเราๆ หากได้เงินเดือนเกิน 20,000 บาท จะต้องเสียภาษี ภ.ง.ด.91 นี้ ซึ่งการเสียภาษีจะคำนวณจากรายได้เงินเดือนเป็นรายปี โดยมีการกำหนดวันยื่นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคมของทุกปี
การคำนวณการเสียภาษีนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ว่าเอาเงินเดือนมาคูณ 12 เดือนแล้วจะเป็นยอดเงินของรายได้ทั้งหมด แต่ต้องคำนวณจากการหักค่าใช้จ่ายต่างๆ อีก อาทิ ค่าใช้จ่าย 40% (ตามกฎหมาย) ค่าลดหย่อนภาษีที่มีมากมาย เช่น เงินบริจาค การซื้อประกันชีวิต ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา ค่าดูแลบุตร ค่าประกันสังคม เป็นต้น* เมื่อนำทั้งหมดมาลบด้วยจำนวนรายได้ต่อปีก็คือเงินที่เหลือ
หากไม่เกิน 150,000 บาท ก็ได้รับยกเว้นการเสียภาษี แต่ถ้าคำนวณแล้วเหลือเกินยอดจำนวนนี้ ก็ต้องเสียภาษีตามตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั่นเอง โดยจ่ายเป็นรายปี แต่หากจ่ายไปแล้ว กลับทำงานไม่ครบ 12 เดือน ก็สามารถยื่นเรื่องทำการขอภาษีคืนได้
ตัวอย่างของการคำนวณการเสียภาษี (เบื้องต้น)
คุณ A ได้รับเงินเดือน 15,000 บาท/เดือน โดยที่ไม่มีรายได้ส่วนใดเพิ่มเติม มาคำนวณว่า คุณ A จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่
เงินเดือน 15,000 X 12 เดือน = 180,000 บาท/ปี
หักค่าใช้จ่าย 40% (แต่ไม่เกินคนละ 60,000 บาท) = 180,000 X 40% = 72,000*
(*แต่ในกฎหมายระบุให้ได้ไม่เกินคนละ 60,000 บาท) = 60,000 บาท
นำรายได้ต่อปี 180,000 - ค่าใช้จ่าย 60,000 = 120,000 บาท
หักค่าลดหย่อนภาษี
(ของตัวเอง : จากรายการลดหย่อนฯ และยกเว้น จากหักค่าใช้จ่าย) = 30,000 บาท
หักค่าประกันสังคม
(เงินเดือน : 15,000 X 5 % X 12 เดือน) = 9,000 บาท
= 39,000 บาท
สรุปเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย (120,000 - 39,000) = 81,000 บาท
หากมองตามตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะอยู่ที่ไม่เกิน 100,000 บาท = ยกเว้นการเสียภาษี
คุณ B ได้รับเงินเดือน 30,000 บาท/เดือน โดยที่ไม่มีรายได้ส่วนใดเพิ่มเติม มาคำนวณว่า คุณ B จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่าไหร่
เงินเดือน 30,000 X 12 เดือน = 360,000 บาท/ปี
หักค่าใช้จ่าย 40% (แต่ไม่เกินคนละ 60,000 บาท) = 60,000 บาท
นำรายได้ต่อปี 360,000 - ค่าใช้จ่าย 60,000 = 300,000 บาท
หักค่าลดหย่อนภาษี
(ของตัวเอง : จากรายการลดหย่อนฯ และยกเว้น จากหักค่าใช้จ่าย) = 30,000 บาท
หักค่าประกันสังคม
(15,000 X 5% X 12 เดือน) = 9,000 บาท
ฐานการหักค่าประกันฯ สูงสุด คือ 15,000 บาท = 39,000 บาท
สรุปเงินได้สุทธิ (300,000 - 39,000) = 261,000 บาท
จากตารางฯ แสดงให้เห็นว่า จำนวนเงินที่ 0 ถึง 150,000 ไม่ต้องเสียภาษี
จึงนำเงินสุทธิมาหักจากจำนวนเงินสูงสุดที่ไม่ต้องเสียภาษีคือ 150,000 = เงินเหลือ
= 111,000 บาท
แต่ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบเงินสุทธิที่ตารางฯ แล้วเกิน 150,000 ถึง 500,000 จะต้องเสียภาษี 10%
จึงต้องนำเงินเหลือข้างต้น มาคูณกับอัตราภาษี 10%
เท่ากับ (111,000 X 10%) = จำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีรายปี = 11,100 บาท/ปี
สรุปภาพรวมคือ ถ้าเงินเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท/เดือน (ไม่รวมเงินได้จากแหล่งอื่น) ก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่อย่าลืมว่า การเสียภาษีคือหน้าที่ของประชาชนทุกคนนะคะ หากคุณต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับสิทธิของการลดหย่อนภาษีต่างๆ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กรมสรรพากร โดยตรง หรือเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
www.rd.go.th แหล่งอ้างอิง
*เอกสารจากกรมสรรพากร โทร.0 2272 8000