TARADTHONG.COM
ธันวาคม 11, 2024, 01:25:34 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: ตลาดทองดอทคอม
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  

Copy Code


หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: จับตาโดมิโนหนี้ยุโรปตั้งรับไม่ดี"เอเชีย"เสี่ยงเจ๊งสุด(2/6/53)  (อ่าน 6596 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
น่ารักสุดๆ
Administrator
Hero Member
*****

คะแนนความนิยม: 2330
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1658



ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: มิถุนายน 02, 2010, 05:05:55 PM »

จับตาโดมิโนหนี้ยุโรปตั้งรับไม่ดี"เอเชีย"เสี่ยงเจ๊งสุด(2/6/53)
ไม่เพียงแต่กระแสทุนจะถูกโยกย้ายจากยุโรปไปยังเอเชียมากขึ้นแล้ว เอเชียยังต้องเจอปัญหาด้านการส่งออกซ้ำอีกระลอก เพราะเป็นเรื่องชัดเจนว่าการนำเข้าสินค้าจากยุโรป จะลดลงฮวบฮาบ

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

คงต้องเรียกว่าเป็นการประเมินที่ “ต่ำเกินไป” หากจะวางใจกับสถานการณ์ปัญหาหนี้ในยุโรป เพียงเพราะสหภาพยุโรป (อียู) โดยเฉพาะกลุ่มยูโรโซน 16 ประเทศ ประกาศมาตรการโอบอุ้มกรีซออกมาแล้ว หรือวางใจเพราะเชื่อว่ารัฐบาลมังกรจีนจะไม่ทอดทิ้งยูโรและตลาดตราสารหนี้ยุโรป หรือวางใจเพราะเชื่อว่าคงไม่มีใครปล่อยให้เกิดวิกฤตการณ์การเงินขึ้นซ้ำสอง เหมือนที่เพิ่งเคยเกิดขึ้นในวอลสตรีตเมื่อ 3 ปีก่อน

เพราะในฟากยุโรปซึ่งเป็นต้นตอปัญหานั้น สถานการณ์ยิ่งค่อยๆ เลวร้ายลง หลายประเทศส่อเค้าลางของวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สเปน หรือกับสัญญาณล่าสุดที่ ฝรั่งเศส

ทว่า ที่ดูจะส่งสัญญาณชัดเจนไม่แพ้กันด้วย ก็คือ ภูมิภาคเอเชียของเราเอง เพราะแม้จะเป็นหัวหอกการฟื้นตัวของภาวะทางเศรษฐกิจโลก แต่ขณะเดียวกัน เอเชียก็กำลังเผชิญความเสี่ยงยิ่งกว่าใครๆ

เพราะหากวิกฤตการณ์หนี้ในยุโรปทวีความรุนแรงและเลวร้ายลง ย่อมหมายความว่ากระแสทุนจากต่างชาติ หรือ เงินร้อน ก็จะยิ่งทะลักล้นเข้าสู่เอเชียอีกมหาศาล

ในระยะสั้นอาจเป็นผลดีที่หวือหวาของตลาดทุน เช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.พ.–มี.ค.ที่ผ่านมา ทว่าในระยะยาวนั้น หากไม่มีการตั้งรับที่ดีพอ อาจทำให้ภูมิภาคเอเชียต้องสั่นคลอน และเผชิญกับภาวะฟองสบู่แตกตัวอีกครั้งใหญ่

ปัญหากระแสทุนร้อนๆ ที่หลั่งไหลสู่เอเชียนั้น เกิดขึ้นต่อเนื่องมานานนับปีแล้ว หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดอัตราดอกเบี้ยจนลงมาอยู่ที่ระดับ 0–0.25% เพื่อหวังกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การได้เงินกู้ดอกเบี้ยที่มาอย่างง่ายๆ ท่ามกลางสภาพการลงทุนในประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้กระแสทุนถูกโยกย้ายมายังฝั่งเอเชียและบรรดาตลาดเกิดใหม่แทน โดยเฉพาะจีน

ทว่า จนถึงวันนี้ เงินร้อนที่ไหลเข้ายังดูเหมือนไม่มีวันหมดง่ายๆ และยิ่งทำท่าจะทวีเป็นเงินร้อนทะลักล้นเข้ามาอีก หากปัญหาหนี้ในยุโรปบานปลาย ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้น

ล่าสุด สเปนถูกบริษัทจัดอันดับเครดิตฟิทช์ เรตติ้งส์ หั่นอันดับเครดิตของสเปนจากชั้นสูงสุด AAA ลงมาอยู่ที่ระดับ AA+ สะท้อนให้เห็นว่าความพยายามของรัฐบาลกรุงมาดริด ที่เพิ่งประกาศเตรียมหั่นงบประมาณรายจ่ายลง 1.5 หมื่นล้านยูโร (ราว 5.98 แสนล้านบาท) นั้น ไม่เพียงพอที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นขึ้นมาได้

แม้แต่ฝรั่งเศสเองนั้น ฟรังซัวส์ บารวง รัฐมนตรีกระทรวงงบประมาณ ยังส่งสัญญาณออกมาเตือนให้ประเทศต้องลดงบประมาณรายจ่ายลงอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหางบประมาณขาดดุล ก่อนที่ฝรั่งเศสจะเผชิญชะตากรรมเดียวกับสเปน

จึงไม่น่าแปลกใจที่นายกรัฐมนตรีแห่งแดนมังกรจีน เวินเจียเป่า จะแสดงความกังวลระหว่างที่กำลังเดินทางเยือนญี่ปุ่นว่า โลกมีสิทธิที่จะจม|สู่วิกฤตการณ์ทางการเงินอีกเป็น|ครั้งที่ 2 หากยังไม่รีบแก้ปัญหาวิกฤตการณ์หนี้ในยุโรป

สัญญาณชัดเจนถึงผลกระทบของความเสี่ยงในเอเชียนั้น หนีไม่พ้นภาวะฟองสบู่สินทรัพย์ในหลายประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์

หวังเสี่ยวยี่ รองผู้อำนวยการสำนักงานปริวรรตเงินตราในจีน เพิ่งกล่าวเมื่อต้นเดือน พ.ค.นี้ว่า ทางการจีนจะเร่งดำเนินมาตรการควบคุมกระแสทุนไหลเข้าให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะฟองสบู่สินทรัพย์เลวร้ายลงอีก หลังจากที่ดำเนินมาตรการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ทว่าจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์อันสุดร้อนแรงได้

อีกสัญญาณที่ชัดเจนไม่แพ้กัน คือเสียงเรียกร้องจากรัฐบาลกรุงโซล เมื่อ คิมชุงซู ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้ ได้เสนอในที่ประชุมผู้ว่าแบงก์ชาติทั่วโลกให้มีการจัดตั้งระบบสวอปค่าเงินที่ถาวร และเป็นแบบพหุภาคีขึ้นมา เป็นมาตรการเฝ้าระวังความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในโลกการเงิน

เป็นการเฝ้าระวังเพื่อรับมือกับคลื่นการทะลักล้นของเงินร้อน ที่เตรียมเข้ามาอีกระลอกเพื่อเก็งกำไรหลายสกุลเงินเอเชียอย่างชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่าต้องเดือดร้อนบรรดาแบงก์ชาติทั้งหลายเข้าไปพยุงค่าเงินของตัวเองไม่ให้ต้องแข็งค่าเกินไป จนกลายเป็นอุปสรรคต่อภาคการส่งออก ที่กำลังเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง และหากมีระบบสวอปเงินที่พัฒนาจากทวิภาคีในปัจจุบัน มาเป็นรูปแบบพหุภาคีที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า ก็จะยิ่งช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพของภาคการเงินเอเชียให้มั่นคงยิ่งขึ้น

เพราะหากไม่เร่งเตรียมการแต่เนิ่นๆ กว่าจะกลับลำก็อาจไม่ทันการณ์ เมื่อปัญหาหนี้ในยุโรปขณะนี้ส่งสัญญาณชัดเจนขึ้นทุกขณะว่าคงไม่จบลงง่ายๆ

หากสถานการณ์ในสเปนเลวร้ายลง จะยิ่งแย่กว่าวิกฤตการณ์ในกรีซมาก เพราะมีขนาดทางเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าถึง 4 เท่า ชนิดที่ทั้งอียู และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อาจรับมือไม่ไหว

ขณะเดียวกัน ไม่เพียงแต่กระแสทุนจะถูกโยกย้ายจากยุโรปไปยังเอเชียมากขึ้นแล้ว เอเชียยังต้องเจอปัญหาด้านการส่งออกซ้ำอีกระลอก เพราะเป็นเรื่องชัดเจนว่าการนำเข้าสินค้าจากยุโรป จะลดลงฮวบฮาบ ขณะที่การท่องเที่ยวจากยุโรปไปยังเอเชีย ก็จะลดลงตามไปด้วย และทางด้านเฟดก็อาจพิจารณาชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปอีก ทำให้วัฏจักรที่เศรษฐกิจโลกจะกลับสู่ภาวะปกตินั้น ต้องเลื่อนออกไป

หมากนี้หากเตรียมเดินเกมไม่ดี มีหวังผู้นำอย่างเอเชีย อาจพลิกเป็นผู้แพ้ที่ย่ำแย่สุดในวังวนเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


Powered by MySQL Powered by PHP Valid XHTML 1.0! Valid CSS!