การถ่ายภาพสารคดี (FOTOINFO)
การถ่ายภาพแนวสารคดี หมายความรอบคลุมถึงการถ่ายภาพในทุกประเภททุกแนว ไม่ว่าจะเป็นมาโคร วิวทิวทัศน์ นก สัตว์ป่า พอร์เทรต วิถีชีวิต สตรีท กีฬา อาหาร การแสดง สตีลไลฟ์ สงคราม ท่องเที่ยว ฯลฯ รวมไปถึงการถ่ายภาพทางอากาศ และภาพใต้น้ำ หรือแม้แต่การถ่ายภาพจากอวกาศด้วยดาวเทียมการถ่ายภาพดวงดาวจากกล้องโทรทัศน์
ด้วยเพราะเนื้อหาของสารคดีเรื่องหนึ่งๆ มันเป็นได้ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ เป็นได้ทั้งสิ่งมีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิต เป็นสถานที่ เป็นเหตุการณ์บางอย่างเป็นภัยธรรมชาติ เป็นเรื่องการเมือง เป็นเรื่องศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นชีวิตสัตว์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรม เป็นการละเล่นพื้นเมือง เป็นกีฬาสากล เป็นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ขึ้นกับว่านักเขียนจะคิดเรื่องคิดประเด็นอะไรขึ้นมาได้
จัดหรือไม่จัด ?
ทั้งนี้ มีคำถามยอดนิยมอยู่เรื่องหนึ่งสำหรับการถ่ายภาพในเชิงสารคดี ก็คือคำถามในทำนองว่าช่างภาพสามารถ "จัด" ได้หรือไม่ เนื่องด้วยสารคดี นั้นมีเนื้อหาจาก "ความเป็นจริง" การจัดถ่ายในรูปแบบต่าง ๆ จะทำให้ภาพ "ผิดความเป็นจริง" ไปหรือไม่ ?
เรื่องนี้สามารถตอบให้ชัดเจนได้เลยว่า ช่างภาพสามารถ "จัด" ได้ ถ้า...การจัดนั้นไม่ทำให้เนื้อหาหรือความเป็นจริงบิดเบือนไป โดยเฉพาะเมื่อเรื่องและภาพเหล่านั้นนั้นกำลังพูดถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อนทางสังคม การเมือง เชื้อชาติ ศาสนาเรื่องทำนองนี้ยิ่งต้องระวังให้มากเป็นพิเศษ รักษาความเป็นกลางในการนำเสนอให้ได้โดยไม่นำเอาอารมณ์ ความรู้สึก หรือความคิดเห็นส่วนตัวสอดแทรกลงไป เพราะมันเท่ากับเป็นการชักจูงให้ผู้อ่านคล้อยตามสิ่งในที่เราคิด ซึ่งไม่ใช่การนำเสนอที่เป็นความจริงหรือบอกความจริงไม่หมด
แต่งภาพได้แค่ไหน ?
ข้อนี้เป็นคำถามต่อเนื่องที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในยุคของการถ่ายภาพด้วยระบบดิจิตอล ซึ่งคำตอบก็เป็นไปในทำนองเดียวกันคือทำได้ในขอบเขตที่ไม่ผิดความเป็นจริง ซึ่งส่วนใหญ่คือการปรับขั้นพื้นฐานจำพวก ความคมชัด สีสัน คอนทราสต์นิด ๆ หน่อย ๆ เพื่อให้คุณภาพของภาพนั้น ๆ ดีขึ้น ส่วนการตกแต่งภาพในระดับรีทัชตัดต่อ ลบตรงโน้นทิ้ง เออะไรมาใส่เพิ่ม คงต้องพิจารณาเป็นภาพ ๆ เป็นกรณี ๆ ไป เพราะมันอาจทำได้ถ้ายังอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่บิดเบือนความเป็นจริง ไม่ทำให้ผู้ชมผู้อ่านเข้าใจอะไรผิด
ความเป็นจริงของช่างภาพสารคดีชาวไทย
นักถ่ายภาพที่สนใจการถ่ายภาพเชิงสารคดี ส่วนใหญ่น่าจะได้รับอิทธิพลมาจาก National Geographic บ้างไม่มากก็น้อย เห็นภาพสวย ๆ แล้วก็จึงอยากถ่ายภาพได้อย่างนั้นบ้าง บางคนเพียงแค่คิดแต่ไม่เคยลงมือจริงจัง แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยได้ทดลองเหยียบย่างลงไปบนทางสายนี้เพื่อที่จะพบกับความจริงข้อหนึ่งนอกเหนือไปจากปัญหาในแง่เทคนิคและวิธีการถ่ายภาพ
ความจริงที่ว่า "ค่าตอบแทนมันช่างไม่คุ้มค่ากับการลงทุนเสียเลย" สารคดีบางเรื่อง ช่างภาพอาจใช้เวลาสั้นๆ กับการออกพื้นที่เพียงครั้งสองครั้งเพื่อให้ได้ภาพที่ครบสมบูรณ์ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดได้ แต่กับสารคดี บางเรื่องอาจต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ และการลงพื้นที่ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งอาจต้องการอุปกรณ์พิเศษสำหรับการถ่ายภาพ ที่ต้องลงทุนสูง เช่น การถ่ายภาพใต้น้ำ หรือการถ่ายภาพจากทางอากาศ
ซึ่งถ้าต้นสังกัดของคุณมีเงินทุนมากพอในระดับใกล้เคียงกับ NG. เรื่องนี้ก็คงไม่ใช่ปัญหา หรือต่อให้เป็นช่างภาพอิสระ แต่ถ้าเรื่องผ่านการพิจารณาได้ลงตีพิมพ์ใน NG. (ฉบับภาษาอังกฤษ) ก็อาจคุ้มกับการลงทุน แต่ถ้าขอบเขตการทำงานของคุณถูกจำกัดเพียงแค่ภาษาไทย ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีคนอ่านหนังสือน้อยติดลำดับต้นๆ ของโลกแล้วล่ะก็คงต้องคิดสะระตะให้ดีเสียก่อน หรือถ้าจะให้บอกอย่างตรงไปตรงมาอย่างไม่ต้องเกรงใจใครจริง ๆ ล่ะก็ "ไปขายเต้าฮวยดีกว่าครับ" เพราะมันยังเป็นอาชีพที่พอจะมองเห็นหนทางร่ำรวย หรืออย่างน้อยก็พอจะสร้างรายได้หาเลี้ยงชีพได้ดีกว่าง่ายกว่าการเป็นช่างภาพสารคดีอิสระชาวไทยอย่างแน่นอน
ลองกวาดตาไปดูช่างภาพสารคดีชาวไทยให้ดี ๆ ที่ยังดำรงชีพอยู่ได้สบาย ๆ ก็คือช่างภาพที่มีสังกัดเท่านั้น หากเป็นช่างภาพอิสระแล้ว บอกได้เลยว่า ร้อยเก้าสิบเก้า อยู่ได้ด้วยงานอย่างอื่นหรือไม่ก็ต้องรับจ๊อบถ่ายภาพงานอย่างอื่น ๆ ช่วยประคองตัวไปเท่านั้น
ใช้กรอบเพื่อบีบสายตาสู่ซับเจ็ค
ในการเดินทางแต่ละทริปสำหรับนักถ่ายภาพที่ไม่ใช่มืออาชีพคงจะไม่ได้แพลนล่วงหน้าว่าจะต้องถ่ายอะไรบ้าง ส่วนใหญ่แล้วก็เพียงแค่หาข้อมูลว่าสถานที่นั้นมีอะไรน่าสนใจ ที่เหลือก็ไปวัดกันภาคสนาม ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องของการถ่ายภาพสารคดีเลย เพราะเราควรจะหาข้อมูลรอบด้าน และต้องวางแผนว่าจะต้องถ่ายภาพอะไรบ้างเพื่อให้ได้ภาพครบพอที่จะใช้กับบทความเรื่องหนึ่ง หรือกับภาพชุด ๆ หนึ่ง หากมีปัญหาที่หน้างานจึงค่อยแก้ไขอีกที การจดจ่อมุ่งมั่นกับภาพที่สร้างไว้ในใจจะทำให้เราไม่พลาดสิ่งสำคัญของเรื่องราวที่จะบันทึก
อย่างภาพเมืองซาปา เวียดนามเมื่อ 4 ปีก่อน ผู้ถ่ายเลือกมุมด้วยการใช้ฉากหน้าซึ่งเป็นรั้วไม้ไผ่เพื่อสร้างกรอบภาพในการบีบสายตาให้มุ่งไปที่เด็ก แต่การใช้ฉากหน้าลักษณะนี้ สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือขนาดของซับเจ็คต้องลงตัว เพราะหากใช้ที่ช่วงไวค์มากเกินไปซับเจ็คก็จะมีขนาดเล็กไปเด่นที่รั้วไม้ไผ่แทน อีกเรื่องคือระยะห่างระหว่างกล้องกับรั้ว เพราะมีผลต่อขนาดของช่อง ส่วนสำคัญต้องไม่ถูกรั้วไม่ไผ่บัง ต้องขยับกล้องจนได้มุมที่ดีก่อนจึงกดชัตเตอร์ ซึ่งกล้องคอมแพคจะให้ความคล่องตัวสูงกว่าและไม่เป็นจุดสนใจของเด็กทำให้ได้ภาพที่เป็นธรรมชาติกว่า
นอกจากจะได้กรอบภาพเป็นฉากหน้าแล้ว สิ่งที่ได้มาด้วยคือความลึกของภาพ ภาพจะดูมีมิติกว่าการถ่ายโดยไม่มีฉากหน้า แต่ต้องระวังเรื่องการโฟกัสด้วยโดยต้องใช้โฟกัสแบบเฉพาะจุดกลาง หลีกเลี่ยงการใช้ระบบโฟกัสแบบพื้นที่กว้างเพราะกล้องอาจไปโฟกัสที่ไม่ไผ่ แทนที่จะเป็นเด็ก
เริ่มที่เรื่องใกล้ตัว
งานถ่ายภาพสารคดี เป็นงานที่ต้องใช้เวลาในการเสาะหาความรู้ วางโครงเรื่องที่ต้องการนำเสนอ จินตนาการภาพประกอบว่าควรจะต้องมีภาพในมุมใดแบบใดบ้าง ยกเว้นในงานทางด้านสังคม วัฒนธรรมบางสถานการณ์ที่อาจจะต้องทำงานถ่ายภาพไปตามเงื่อนไขของเวลา ที่สำคัญการถ่ายภาพของนักถ่ายภาพสารคดีนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำงานภายใต้กรอบจริยธรรมของนักสื่อสารมวลชน
นักถ่ายภาพหลายคนไม่รู้จะเริ่มต้นในการถ่ายภาพสารคดีอย่างไร และหลายคนที่ไร้จุดหมายก็มักเลิกล้มกับการถ่ายภาพสารคดีเสียง่าย ๆ ส่วนหนึ่งมาจากงานสารคดีเป็นงานที่ต้องใช้ทั้งแรงกาย และทุนทรัพย์ในการถ่ายทำ ซึ่งตรงกันข้ามกับค่าตอบแทนที่แสนต่ำ เพราะความต้องการของตลาดไม่กว้างเท่ากับการถ่ายภาพเชิงพาณิชย์อื่น ๆ นักถ่ายภาพสารคดีหลายคนต้องยอมควักทุนตัวเองเพื่อทำงาน สนองอุดมการณ์และความรักในการถ่ายภาพแนวนี้เท่านั้น
เทคนิคง่าย ๆ อย่างหนึ่ในการทำงานถ่ายภาพงานสารคดีคือ สนใจเรื่องใกล้ตัว นักถ่ายภาพที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดก็จะได้เปรียบเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติ วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ส่วนในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ๆ ก็อาจจะมีเรื่องทางสังคม ความแตกต่างเหลื่อมล้ำ เป็นต้น ลองมองสิ่งรอบข้างใกล้ตัว โดยเฉพาะเรื่องที่ดูเข้าใจง่ายและมีให้พบเห็นบ่อยครั้ง การกำหนดเรื่องรอบตัวสักเรื่องให้เป็นเป้าหมายในการถ่ายภาพจะเป็นการฝึกฝนที่ดี
การถ่ายภาพสารคดีนั้นเรื่องของเทคนิคการถ่ายภาพอาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ กระบวนการคิดและมุมมองในการนำเสนอเรื่องนั้น ๆ ครบถ้วนรอบด้านหรือไม่ต่างหากคือหัวใจ งานสารคดีโดยส่วนใหญ่จะเป็นการนำเสนอภาพชุดที่สอดคล้อยกันในประเด็นที่ต้องการนำเสนอ เพราะฉะนั้นอย่าถ่ายภาพเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง เมื่อมีภาพในใจแล้วจึงใช้เทคนิคในการถ่ายภาพที่เหมาะสมถ่ายภาพอย่างที่ต้องการ
เก็บเล็กผสมน้อย
ภาพสารคดีมักผ่านการนำเสนอแบบชุดภาพ ในแต่ละภาพควรจะต้องสอดคล้องกันและนำเสนอประเด็นต่าง ๆ อย่างครบถ้วนหลากหลายตรงตามความต้องการของนักถ่ายภาพ การถ่ายภาพสารคดีให้ได้ภาพสักชุดหนึ่งนั้นอาจใช้เวลานานมาก การเดินทางไปในสถานที่ถ่ายภาพครั้งเดียวแล้วได้ครบตามที่ต้องการนั้นเป็นไปได้เลย อย่างน้อยก็ด้วยเงื่อนของเวลา เช่น ถ้าคุณอยากนำเสนอเรื่องราวธรรมชาติในรอบหนึ่งปี คุณก็จำเป็นต้องมีภาพให้ครบทุกฤดูกาลเป็นอย่างต่ำ ถึงจะเรียกได้ว่าครบรอบปี
หลายคนคงทราบดีกว่าการถ่ายภาพสารคดีธรรมชาติเป็นงานที่ต้องลงทุนสูง ลำพังค่าเดินทางก็อาจทำเราท้อได้ง่าย ๆ สิ่งที่น่าจะเป็นทางออกที่ดีของนักถ่ายภาพที่สนใจอยากทำงานถ่ายภาพสารคดีก็คือ การถ่ายภาพแบบเก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อย ๆ การวางแผนถ่ายภาพเรื่องที่เราสนใจไว้ล่วงหน้า จะทำให้เรารู้ว่าจะต้องถ่ายภาพอะไรบ้าง เมื่อไหร่ ที่ไหน จากนั้นก็ลองเอาแผนการถ่ายภาพของเรานั้นประกอบเข้ากับกิจกรรมหรือการเดินทางอื่น ๆ ที่เรามี หากทำได้เช่นนี้บ่อย ๆ เข้า เดินทางไปไหนได้ภาพครั้งละภาพสองภาพ ไม่นานมันก็จะร้อยเรียงกันเป็นชุดภาพที่สอดคล้องเข้ากันได้
การเก็บเล็กผสมน้อยแบบนี้แหละ จะทำให้คุณภาพได้ภาพชุดสารคดีที่ดี โดยไม่ต้องลงทุนมากเกินไปนัก และการได้ภาพด้วยความรู้สึกที่ไม่คาดหวังก็จะยิ่งเป็นกำลังใจ เป็นแรงผลักดันให้เราออกไปถ่ายภาพได้บ่อย ๆ ลองวางแผนการถ่ายภาพเรื่องที่คุณสนใจเสียแต่ตอนนี้ แล้วดูปฏิทินกำหนดการณ์เดินทางของคุณในรอบปีไว้ล่วงหน้ารับรองว่าคุณอาจได้ภาพติดไม้ติดมือกลับมาเสมอ
http://hilight.kapook.com/view/54017