1 ตุลาคม วันผู้สูงอายุสากล
ปัจจุบันนี้ "มนุษย์" มีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เนื่องจากวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชากร "วัยสูงอายุ" ยิ่งเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี โดยองค์การสหประชาชาติได้คาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ.2025 ( พ.ศ.2568) จะมีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี ถึง 1,200 ล้านคนทั่วไป และในปี ค.ศ.2050 (พ.ศ.2593) จะมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีทั่วโลกถึงเกือบ 2,000 ล้านคนเลยทีเดียว
แต่ทว่าในจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้นนี้ กลับมีผู้สูงอายุอีกหลายคน ที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวและถูกทอดทิ้งโดยไม่เห็นคุณค่า และนี่ก็คือที่มาของการกำหนดให้ วันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปีเป็น "วันผู้สูงอายุสากล"
ที่มาของ วันผู้สูงอายุสากล
องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ทุกวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี เป็น "วันผู้สูงอายุสากล" หรือ "International Day of Older Persons" โดยกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1991 (พ.ศ.2534) จากการประชุมขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ.1990 ( พ.ศ.2533) ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2525 องค์การสหประชาชาติได้เคยจัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และได้ให้ความหมายของคำว่า "ผู้สูงอายุ" ว่า
ผู้สูงอายุ คือ บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุตอนต้น คือ บุคคลที่มีอายุ 60-69 ปี ทั้งชายและหญิง และผู้สูงอายุตอนปลาย คือ บุคคลที่มีอายุ 70 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง
จุดประสงค์ของการกำหนดวันผู้สูงอายุสากล
วันผู้สูงอายุสากล ถือเป็นวันสำคัญของผู้สูงอายุทั่วโลก เพราะแต่ละแห่งทั่วโลกจะได้จัดงานเฉลิมฉลองให้กับผู้สูงอายุ เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ ให้คนทั่วไปตระหนักว่า ชั่วชีวิตที่ผ่านมาผู้สูงอายุได้สร้างคุณประโยชน์ คุณงามความดีไว้มากมาย รวมทั้งสรรค์สร้างทุก ๆ สิ่งมาให้กับสังคมตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน
วันผู้สูงอายุในแต่ละประเทศ
ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ล้วนให้ความสำคัญกับวัยสูงอายุเป็นอย่างมาก และมีการกำหนดวันเพื่อเฉลิมฉลอง และตระหนักถึงคุณงามความดีของผู้สูงอายุ อย่างเช่น "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" (National Grandparents Day) ของที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศแคนาดา ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเองก็มีวันให้ความเคารพต่อผู้สูงอายุเช่นกัน (Respect for the Aged Day) ซึ่งตรงกับวันจันทร์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายนของทุกปี
สำหรับในประเทศไทยเอง ได้ตระหนักถึงคุณค่าของผู้สูงอายุเช่นกัน โดยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้กำหนดให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันสงกรานต์ และวันปีใหม่ของไทย เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานและจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับผู้สูงอายุของทุกปี
นอกจากการกำหนดให้วันที่ 13 เมษายน เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติแล้ว ยังได้กำหนดให้ "ดอกลำดวน" เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุด้วย ซึ่งสาเหตุที่เลือก "ดอกลำดวน" เนื่องจากต้นลำดวนหรือหอมหวล (Melodorum fruticosum Lour) ตามชื่อไทยพื้นเมือง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sphaerocoryne clavipes.จัดอยู่ในวงศ์ Annonaceae. เป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มากในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี คอยให้ความร่มเย็น ลำต้นของลำดวนมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ดอกสีเหลืองนวล กลิ่นหอมเย็น กลีบแข็งแรงไม่ร่วงง่าย เปรียบเหมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิที่คงคุณธรรมคุณงามความดีให้กับลูกหลานไว้เป็นแบบอย่างสืบต่อไป
ด้วยเหตุนี้ ลูกหลานทุกคนควรที่จะเอาใจใส่ และแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้สูงอายุ รวมทั้งตระหนักถึงคุณค่า และเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุทุกท่านกันด้วยนะ