Deprecated: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in /var/www/vhosts/taradthong.com/httpdocs/webboard/Sources/Load.php(225) : runtime-created function on line 3

Deprecated: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in /var/www/vhosts/taradthong.com/httpdocs/webboard/Sources/Load.php(225) : runtime-created function on line 3
 7 เรื่องการเงินที่ "แม่บ้าน" ต้องรู้
TARADTHONG.COM
ธันวาคม 12, 2024, 11:48:40 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: ตลาดทองดอทคอม
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  

Copy Code


หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: 7 เรื่องการเงินที่ "แม่บ้าน" ต้องรู้  (อ่าน 11144 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
น่ารักสุดๆ
Administrator
Hero Member
*****

คะแนนความนิยม: 2330
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1658



ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: กันยายน 27, 2011, 09:03:55 PM »

7 เรื่องการเงินที่ "แม่บ้าน" ต้องรู้

ย้ำอีกที ไม่ว่าคุณจะคงสถานภาพอะไร หรือประกอบอาชีพไหน ก็เลี่ยงเรื่องการจัดการเงินทองไปไม่พ้น เพราะเงินทองนั้นเข้าไปข้องแวะกับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่ "แม่บ้าน"

เพราะหน้าที่ของแม่บ้านไม่ใช่แค่เลี้ยงลูก และดูแลความเรียบร้อยภายในบ้าน ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง

แต่คุณเองก็เป็น "แม่บ้านห้าดาว" ได้ ด้วยการหันมาใส่ใจเรื่องเงินๆ ทองๆ ในหลากหลายมิติ แล้วคุณจะพบว่า แม่บ้านอย่างคุณก็มีส่วนสร้างสานสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงให้กับครอบครัวได้

Fundamentals ฉบับนี้ ยก 7 เรื่องการเงินที่แม่บ้านควรรู้มานำเสนอ

***

O ออกแบบแผนการเงินให้ครอบครัว

ใครจะคิดว่า แม่บ้านก็สามารถออกแบบแผนการเงินให้ครอบครัวได้ เรื่องนี้ "อัจฉรา โยมสินธุ์" อาจารย์ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มองว่า แม่บ้านจะต้องเป็นศูนย์รวมข้อมูลทางการเงินของครอบครัวทั้งรายรับ รายจ่าย สินทรัพย์และหนี้สินเพื่อใช้เป็นจุดสตาร์ทในการ "ตั้งเป้าหมายของครอบครัว" ซึ่งทุกคนในบ้านจะต้องร่วมกันกำหนด เช่น ความฝันของคุณพ่อคุณแม่ในวัยเกษียณ เป้าหมายการศึกษาของลูกๆ เป้าหมายการปรับปรุงบ้าน เป้าหมายการท่องเที่ยว ฯลฯ แล้ว "จัดลำดับความสำคัญให้ชัดเจน" จากนั้นคุณแม่บ้านก็ต้อง"จัดสรรเงินโดยแยกเป็นบัญชี"สำหรับ 1.การใช้จ่าย 2.สำรองเผื่อฉุกเฉินประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน และ 3.เงินออมเงินลงทุนประเภทต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายครอบครัวที่วางไว้

ด้าน "จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ" ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายขายและการตลาด บลจ.แอสเซท พลัส แนะว่าในการวางแผนการเงินให้ครอบครัว ขอแนะนำแม่บ้านว่าให้แบ่งเงินเป็น 5 กอง ตามค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว 1.ค่าใช้จ่ายในบ้าน ซึ่งตรงนี้สามารถลงทุนในกองทุนตราสารหนี้สภาพคล่อง ที่สามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ หรือกองทุนตลาดเงิน (Money Market Fund) เนื่องจาก มีความเสี่ยงต่ำ และสภาพคล่องสูง 2.ค่าเล่าเรียนลูก สามารถนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนในกองทุนทองคำ และกองทุนหุ้นต่างประเทศได้ โดยมุ่งหวังผลตอบแทนในระยะยาวมากกว่า 3-5 ปี 3.ใช้จ่ายหลังเกษียณ โดยแบ่งส่วนเงินได้มาลงทุนใน กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 4. ค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว และบันเทิง สามารถนำเงินส่วนนี้มาลงทุนในหุ้นไทยทั่วไป และกองทุนรวมดัชนี (Index Fund) ที่อิงผลตอบแทนตามดัชนีอ้างอิง เช่น SET100 และ SET50 ถ้าได้กำไรมากเท่าไหร่ก็ไปเที่ยวได้ไกลเท่านั้น และ 5.เพื่อป้องกันความเสี่ยงสำหรับคนในครอบครัว ตรงนี้ควรจะเป็นการซื้อประกันชีวิตให้กับคนในครอบครัว

ส่วน "ดร.พิมพ์เพ็ญ ลัดพลี" ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาตลาดตราสารหนี้รัฐบาล สำนักงานบริหารหนี้ สาธารณะ กระทรวงการคลัง มองว่า แผนการเงินของครอบครัวต้องขึ้นอยู่กับว่าครอบครัวใหญ่หรือเล็ก และอยู่ในช่วงไหนของชีวิต สิ่งที่อยากให้ทุกครอบครัวมีให้ได้เป็นอันดับแรก คือ “มีบ้านเป็นของตัวเอง” เพราะบ้านเป็นสินทรัพย์ที่สามารถนำไปเป็นหลักประกัน เพื่อนำเงินมาลงทุนต่อยอดรายได้ พอเริ่มมีเสาหลักของบ้านที่มั่นคง ก็ควรเริ่มออมเงินเพื่อการศึกษาของลูก เพราะอนาคตของลูกที่สดใสก็จะเป็นเสาหลักที่สำคัญต่อไปของครอบครัวที่แข็งแรง ดังนั้น เรื่องบ้านและการศึกษาของลูกคือเป้าหมายแรกของการลงทุนเพื่อครอบครัวที่สมบูรณ์

O เป็นหมอคอยเช็คสุขภาพการเงิน

นอกจากจะออกแบบแผนการเงินให้ครอบครัวแล้ว แม่บ้านยังเป็นเหมือนหมอคอยเช็คสุขภาพการเงินให้ครอบครัวได้อีกด้วย อัจฉรามองว่าการตรวจสุขภาพทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่บ้านไม่ควรละเลย เพื่อให้ฐานะทางการเงินของครอบครัวมีความมั่นคงแข็งแรงและสามารถสะสมความมั่งคั่งได้อย่างต่อเนื่อง วิธีการง่ายๆ คือให้ "กำหนดสัดส่วนการออม" และ "เพดานหนี้ที่เหมาะสม" เพื่อเป็นเกณฑ์ตรวจวัดความผิดปกติทางการเงิน

" เช่น ครอบครัวเราจะออมเงิน 25% ของรายได้ เงินชำระหนี้จะไม่เกิน 35% ในแต่ละเดือนและยอดหนี้สินทั้งหมดจะต้องไม่เกิน 50% ของสินทรัพย์ทั้งหมด หากช่วงใดตัวเลขเริ่มส่งสัญญาณไม่ค่อยดีก็จะต้องรีบทบทวนหาสาเหตุของความผิดปกติทันที อย่าปล่อยให้เรื้อรังและลุกลามจนเป็นมะเร็งทางการเงิน"

ดร.พิมพ์เพ็ญ บอกว่า เรื่องสุขภาพการเงินของครอบครัวนั้นเป็นเรื่องเป็นใหญ่ เนื่องจากเวลาล้มไม่ได้ล้มคนเดียว แม่บ้านเองก็ควรมีการทำบัญชีตรวจสอบ รายได้ รายจ่าย เงินออม และภาระหนี้สินอยู่เสมอทุกเดือน รายการที่สำคัญที่สุด 2 รายการที่ต้องสร้างสมดุลในอันดับแรกคือ รายได้ กับภาระหนี้สิน ถ้าเราก่อหนี้เกินตัว หรือมีการผ่อนส่งมากเกินกำลัง รายได้ก็จะไม่เหลือพอที่จะมีเงินเก็บออม ซึ่งเงินออมเป็นกำลังหนุนสำคัญในยามฉุกเฉินจำเป็นอีกด้วย สรุปได้ว่าสุขภาพการเงินที่แข็งแรง ก็คือความสมดุลของรายได้ รายจ่าย เงินออม และภาระหนี้สิน ขอให้สุขภาพแข็งแรง

ฝ่าย จารุลักษณ์ แนะแม่บ้านว่า การเช็คสุขภาพทางการเงิน ควรที่จะทำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เนื่องจาก มีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางเศรษฐกิจ และสภาวะการลงทุน โดยจะต้องตรวจสอบการใช้จ่ายเงินที่ผ่านมาว่าเพียงพอกับรายได้ที่เข้ามาหรือไม่ มีหนี้สินมากน้อยเพียงใด และการลงทุนในแต่ละช่วงมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ซึ่งคนเราควรจะมีหนี้สินไม่เกิน 40% ของรายได้ ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน

"ถ้าจะให้แนะนำการจัดเงินง่ายๆ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้ปลอดจากหนี้สิน สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือเงินสำรอง สามารถลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ที่เป็นรอบระยะเวลา อย่างช่วงนี้ เป็นช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น จะแนะนำให้ลงทุนประมาณ 6 เดือน - 1 ปี และอีกส่วนลงทุนในกรมธรรม์ประกันชีวิตให้กับหัวหน้าครอบครัว ให้ทุนประกันครอบคลุมหนี้สินที่มีอยู่หากกรณีเสียชีวิต เช่น เป็นหนี้บ้าน 10 ล้านบาท ก็ควรทำประกันให้ครอบคลุมหนี้ตรงนี้ เพื่อให้ครอบครัวไม่ลำบาก อย่างน้อยก็มีบ้านอยู่อาศัย"

O เป็นต้นแบบที่ดีเรื่องการใช้เงินให้แก่ลูก

"เด็กๆ ทุกคนเป็นผ้าขาว เราสอนเขาอย่างไรเข้าก็รับอย่างนั้น” ดร.พิมพ์เพ็ญ เชื่อว่าแม้คำพูดนี้จะยังจริงอยู่ แต่เด็กสมัยใหม่ ฉลาด เก่ง ช่างสังเกต ชอบแสดงออก ซึ่งทำให้คุณพ่อคุณแม่ นอกจากจะอบรมสั่งสอนแล้ว ต้องประพฤติตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีด้วย ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลาไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ควรให้ลูกๆ ช่วยเลือกของ เปรียบเทียบราคาสินค้า ช่วยจ่ายสตางค์นับเงินทอนหรือถ้าลูกๆ โตพอที่จะมีบัตรเครดิตก็ทำบัตรให้เขาจ่ายแทน โดยเราใส่เงินให้ในบัญชี กิจกรรมครอบครัวแบบนี้ คิดว่า นอกจากจะส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีแล้ว ลูกๆ จะมีความรับผิดชอบเรื่องเงินทอง และมีหน้าที่ดูแลคุณพ่อคุณแม่ด้วย

จารุลักษณ์ เสริมว่า คนเป็นแม่และพ่อจะต้องแสดงให้ลูกเห็นว่าตนเองมีระบบการวางแผนการใช้เงินที่ดี และจะต้องปลูกฝังการออมเงินให้ลูกตั้งแต่เด็ก โดยให้ลูกรู้จักคุณค่าของเงิน เช่น ให้เงินลูกไป 20 บาท สอนให้ลูกเก็บวันละ 2 บาท ยอดกระปุกไว้ และหากลูกอยากได้ของเล่นอะไร อาจสอนให้ลูกลองทยอยเก็บเงินเอง ทั้งนี้ เป็นการสร้างวินัยในการออมเงินให้กับลูกในระยะยาว และเพื่อความมั่นคงทางการเงินในอนาคต

อัจฉรา เชื่อว่าพ่อแม่คือผู้แสดงโลกให้ลูกเห็น พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก การเรียนรู้ของลูกๆ ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมเลียนแบบโดยเฉพาะการเลียนแบบพ่อแม่ นิสัยทางการเงินที่ดีของลูกๆ จึงเกิดจากการปลูกฝังของครอบครัวทั้งจากการอบรมสั่งสอนและการเป็นตัวอย่างที่ดี การสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้แก่ลูกๆ สามารถทำได้ง่ายๆ เช่น ให้ลูกๆ ช่วยทำงบประมาณครอบครัว ช่วยกันตั้งเป้าหมายครอบครัว ช่วยทำ Shopping List พาลูกไปธนาคารด้วย ให้ลูกช่วยแยกแยะ Need กับ Want ของครอบครัว เป็นต้น การให้ลูกๆ ได้มีส่วนร่วมในการจัดการเงินของครอบครัวจะทำให้ลูกได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งพ่อแม่ควรเป็นต้นแบบที่ดีด้วยโดยเฉพาะคุณแม่บ้านที่มีความละเอียดรอบคอบและใกล้ชิดลูกๆ มากกว่า

O ศึกษาเรื่องลงทุนแทนสามีที่ทำงานนอกบ้าน

มีหลายครอบครัวที่สามีทำงานนอกบ้าน แต่ภรรยาที่ทำหน้าที่แม่บ้านก็สามารถใช้เวลาว่างในการศึกษาเรื่องราวการลงทุนต่างๆ แทนสามีได้ เรื่องนี้ จารุลักษณ์เห็นว่าการศึกษาข้อมูลการลงทุน จริงๆ ทำได้ทั้งสามี และภรรยา ซึ่งปัจจุบันข้อมูลการลงทุนก็หาไม่ยาก เช่น ติดตามข่าวเศรษฐกิจการเงินทางโทรทัศน์ หรือดูทีวีที่เกี่ยวกับการลงทุน อ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจ หรืออ่านนิตยสารด้านการเงิน นอกจากนั้น อาจจะหาข้อมูลจากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ จากห้องสมุดมารวยของตลาดหลักทรัพย์ก็จะมีข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนง่ายๆ ให้เรียนรู้

"อีกทางสามารถหาข้อมูลโดยตรงจากสถาบันการเงินที่เราเลือกลงทุน เช่น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ต่างๆ โดยอาจสอบถามจากเจ้าหน้าที่ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรืออาจทดลองลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ โดยเริ่มจากเงินลงทุนน้อยๆ ก่อน เพื่อศึกษาวิธีการลงทุน ว่าแบบไหนจะเหมาะกับตนเอง"

ดร.พิมพ์เพ็ญมองว่าการลงทุนในตลาดหุ้น คงเป็นทางเลือกที่ยอดนิยมสำหรับคุณแม่บ้านที่สามารถทำได้ในยามว่าง เพราะตลาดหุ้นเปิดช่วงสายๆ และปิดเร็ว ก็เป็นเวลาที่ส่งลูกโรงเรียนแล้ว และทันเวลากลับบ้านมาทำอาหารพอดี แต่ในปัจจุบัน นอกจากตลาดหุ้นแล้วยังมีตลาดทอง ตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้า ซึ่งการลงทุนทั้งหมดสามารถทำได้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จากทุกที่

"อยากให้ข้อคิดไว้ 2 เรื่อง คือ การควบคุมเงินลงทุน และการควบคุมเวลาให้ดีเพราะเล่นหุ้นแล้วจะติดได้ง่าย อาจต้องเลือกลงทุนที่ไม่หวือหวา เพราะแปลว่าจะต้องเฝ้าหน้าจอตลอดเวลา และก็ต้องไม่เสี่ยงเกินตัว เพราะอาจกลายเป็นว่าหาหนี้สินเข้าบ้านมากกว่าหารายได้เสริมก็เป็นได้"

ส่วน อัจฉรา เสริมว่า การลงทุนช่วยเพิ่มความมั่งคั่งและเป็นบันไดสำคัญสู่เป้าหมายทางการเงินของครอบครัว ซึ่งต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจที่ดีและการตัดสินใจอย่างรอบคอบ คุณแม่บ้านจึงต้องหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุน ต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยง (High Risk High Return) แล้ววางแผนการลงทุนให้เหมาะสม ซึ่งอาจ "เริ่มหาความรู้" จากการอ่านหนังสือ จากอินเทอร์เน็ต เข้าฟังสัมมนาที่เกี่ยวข้อง เข้าอบรมคอร์สการลงทุนสั้นๆ เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ได้อย่างเต็มที่ เมื่อมีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้วจึง "วิเคราะห์ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของครอบครัว" ก่อนการ "จัดสรรเงินไปลงทุน" ในหลักทรัพย์ต่างๆ

O จัดระเบียบเงินทองของครอบครัว

แต่ละบ้านแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน รูปแบบของค่าใช้จ่ายก็แตกต่างกัน จารุลักษณ์ มองว่าแม่บ้านเองก็มีส่วนในการจัดระเบียบเงินทองในครอบครัว ขอแนะนำให้แบ่งภาระรับผิดชอบกันคนละส่วน เช่น ค่าใช้จ่ายประจำที่เป็นก้อนใหญ่ อาจแบ่งกันรับผิดชอบ โดยอาจให้สามีผ่อนบ้าน ส่วนภรรยาผ่อนรถ และจ่ายค่าเทอมลูก ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในบ้าน ก็อาจจะหารครึ่งกัน หรืออาจนำเงินรายได้ส่วนหนึ่งไว้กองกลาง และค่อยหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ออก ส่วนเงินที่เหลือจากกองกลางก็นำไปลงทุนเพื่อดอกผลงอกเงย

ขณะที่ อัจฉรา มองว่าโดยทั่วไป มนุษย์ทุกคนต้องการความเป็นส่วนตัว การมีบัญชีส่วนตัวและบัญชีครอบครัวที่แยกกันอย่างชัดเจนจึงเป็นแนวทางในการจัดระเบียบเงินทองของครอบครัวที่ดี เริ่มต้นง่ายๆ โดยคุณแม่บ้านต้อง "สรุปภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ในบ้านออกมาให้หมด" แล้วพูดคุยกับคุณพ่อบ้านเพื่อ"หาข้อสรุปร่วมกัน"ว่าแต่ละคนจะช่วยกันแบ่งเบาค่าใช้จ่ายอย่างไรหรือจะช่วยกันสมทบเงินเข้าบัญชีครอบครัวเดือนละเท่าไร ซึ่งอาจจะพิจารณาเป็นสัดส่วนของรายได้แต่ละคน นอกจากนี้ อาจจะร่วมกันสร้างบัญชี กองทุนครอบครัวมั่งคั่ง กองทุนครอบครัวสุขสันต์หรือกองทุนครอบครัวอบอุ่น ฯลฯ เพื่อสะสมเงินทุนไว้พิชิตเป้าหมายของครอบครัวในแต่ละด้าน

ขึ้นชื่อว่าครอบครัว ดร.พิมพ์เพ็ญมองว่าควรต้องมีเงินที่เป็นกองกลางของครอบครัว และจะมีบางส่วนที่เป็นของฉันของเธอสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนตัวก็ไม่แปลกอะไร สิ่งที่สำคัญคือ การต้องตกลงกันว่าใครจะใส่เท่าไหร่ในกองกลาง และกองกลางจะสามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง ตรงนี้เป็นเรื่องของวินัยและความเชื่อใจ สำหรับการลงเงินกองกลางนั้น ควรทำโดยการเปิดบัญชีใหม่ไปเลย และสำหรับการใช้จ่ายเงินกองกลางก็ต้องอาศัยการจัดระบบให้ดีตั้งแต่ต้น อาจจะเป็นการจ่ายผ่านบัตรเครดิตก็ได้เพื่อเป็นการบันทึกข้อมูลไปในตัว อย่าให้เรื่องเงินมาเป็นปัญหาในครอบครัวเพราะเราไม่จัดระเบียบ

O เป็นหัวหน้าหน่วยคุมค่าใช้จ่ายประจำบ้าน

หน้าที่ที่ดีของแม่บ้านอีกอย่างหนึ่ง จารุลักษณ์ บอกว่าคือการเป็นหัวหน้าคุมค่าใช้จ่ายในบ้าน โดยมีอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยภรรยา หรือสามี ก็สามารถทำได้ แต่หากทำให้ตึงเครียดเกินไป ก็อาจจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้นำ และกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินจะดีกว่า โดยอาจจะมีกรอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้

"อย่างเช่น ภรรยา อาจจะกำหนดกรอบไปว่า สามีสามารถใช้เงินเพื่อใช้จ่ายส่วนตัวและเข้าสังคม ประมาณเดือนละไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนถ้าจะซื้อของใหญ่ๆ แล้วค่อยมาปรึกษากัน โดยสามารถยืดหยุ่นได้ในแต่ละเดือน การจัดการลักษณะนี้มีข้อดีอีกอย่างคืออย่างน้อยจะได้มีเรื่องที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันภายในครอบครัว"

ดร.พิมพ์เพ็ญ เสริมว่า รายจ่ายในบ้านมีหลายประเภท ควรจัดตารางแยกว่า อะไรคือค่าใช้จ่ายรายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปี ไล่ไปตั้งแต่ค่าขนมลูกๆ ซึ่งควรให้เขาเป็นรายสัปดาห์ได้เลยเมื่อเขาเริ่มขึ้นชั้นประถม ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าบัตรเครดิต ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน ควรเปลี่ยนรอบการชำระให้พร้อมกันเพื่อที่จะได้ทราบค่าใช้จ่ายที่แท้จริง เพราะการจ่ายบิลรายเดือนพร้อมกันทุกรายนอกจากจะเป็นการป้องกันการลืมและประหยัดเวลาแล้วถือเป็นการ “เผชิญ” ความจริงว่า ค่าใช้จ่ายของเราเหมาะสมแล้วหรือเกินตัวหรือไม่ ถ้าเรารู้รายจ่ายทั้งหมด ก็จะควบคุมค่าใช้จ่ายประจำบ้านได้ง่ายขึ้น

อาวุธสำคัญที่จะช่วยคุณแม่บ้านในการทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีที่สุด อัจฉราบอกว่า ก็คือ" งบประมาณเงินสด" เพราะการวางแผนจัดสรรเงินอย่างเป็นระบบจะทำให้คุณแม่บ้านทราบว่าค่าใช้จ่ายที่แท้จริงเป็นเท่าไรและครอบครัวของเรามีพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างไร มีค่าใช้จ่ายรายการใดฟุ่มเฟือยเกินไปหรือไม่ จะตัดลดหรือปรับเพิ่มรายการใดได้บ้าง นอกจากนี้ คุณแม่บ้านที่มีปัญหาในการชอปปิงเกินความจำเป็นควรจะทำ Shopping list ทุกครั้งก่อนไปชอปปิงเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในงบประมาณที่กำหนดไว้และจะได้เป็นตัวอย่างที่ดีให้ทุกคนในครอบครัวได้

O เขาไม่ให้ความสำคัญเรื่องประกันเราต้องแนะ

ถ้าฝ่ายสามีไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการทำประกันสักเท่าไร ฝ่ายภรรยาคงต้องทำหน้าที่กระตุ้นและชี้นำให้เขาเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ อัจฉรามองว่า การมีหลักประกันทางการเงินที่มั่นคงจะช่วยเพิ่มความสบายใจและลดความวิตกกังวลลงได้ โดยเฉพาะในครอบครัวที่คุณพ่อบ้านเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว เพราะความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้เสมอ การทำประกันภัยจะช่วยบรรเทาความสูญเสียทางการเงินลงได้บ้าง ปัจจุบัน ทางเลือกในการประกันภัยมีมากมาย คุณแม่บ้านจึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบไม่ทำประกันมากเกินไปจนเป็นภาระทางการเงินหรือน้อยเกินไปจนไม่เพียงพอที่จะชดเชยความเสียหาย สำหรับการทำประกันชีวิตของคุณพ่อบ้านที่เป็นเสาหลักของครอบครัวอาจจะคำนวณทุนประกันอย่างง่ายๆ คือ ประมาณ 3-5 เท่าของรายได้ต่อปีของคุณพ่อบ้าน

"ขอทิ้งท้ายว่า สมการครอบครัวมั่งคั่ง = คุณพ่อบ้านฉลาดหา + คุณแม่บ้านฉลาดรักษา "

จารุลักษณ์ เห็นว่า การทำประกันมีความสำคัญมากสำหรับชีวิตครอบครัว โดยเฉพาะ ประกันชีวิต นั้นมีความจำเป็นสำหรับคนในครอบครัว อย่างน้อย แต่ละครอบครัวควรจะมีอย่างน้อย 1 กรมธรรม์ เพราะเราไม่รู้อนาคตว่าชีวิตเราจะอยู่ได้นานขนาดไหน ซึ่งกรมธรรม์ลักษณะนี้เบี้ยประกันจะต่ำ ทุนประกันสูง แต่เป็นการจ่ายเบี้ยประกัน “ทิ้ง” คือ ครอบครัวได้รับเงินในกรณีที่ผู้ทำประกันเสียชีวิต หรือ ทุพพลภาพ และอีกส่วนอยากให้แบ่งเงินเพื่อซื้อประกันที่ช่วยลดความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นหากเกิดอุบัติเหตุ และเจ็บป่วย เช่น ประกันอัคคีภัยบ้าน ประกันรถ และประกันสุขภาพ

ส่วน ดร.พิมพ์เพ็ญ มองว่าแม่บ้านต้องชี้ให้พ่อบ้านเห็นว่าเรื่องของการทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือออมเงินผ่านบริษัทประกัน ขอให้ถือเป็นการลงทุนระยะยาว ไม่ใช่รายจ่าย การประกันถือเป็นการเสริมความมั่นคงให้ชีวิตและทรัพย์สิน เพราะในวันที่เราล้มหรือเจ็บป่วย คงไม่มีอะไรจะทำให้แย่ลงกว่าการที่ต้องเสียเงินเอง ที่สำคัญยิ่ง ความเจ็บป่วยไม่มีการบอกล่วงหน้า เราถึงต้องทำประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยงนั้นเอง ในวันนี้ประกันมีหลายรูปแบบ ก็คงต้องมีรูปแบบที่เหมาะสมกับรายได้ ไลฟ์สไตล์ และเงื่อนไขชีวิตของคุณแน่นอน

7 เรื่องนี้เป็นเพียงหัวข้อพื้นๆ ที่บรรดาแม่บ้านควรจะรู้เอาไว้ ในชีวิตจริงนั้น ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ อีกไม่น้อยเลยที่ต้องค่อยๆ เรียนรู้ไป แต่ถึงยังไงเรียนรู้ไว้ก็ไม่เสียหาย จะได้กลายเป็นแม่บ้านห้าดาว ที่รอบรู้เรื่องเงินทอง และทำให้ชีวิตคู่ผาสุกไปด้วย
บันทึกการเข้า
webmaster
Administrator
Full Member
*****

คะแนนความนิยม: 21
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 143



ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: สิงหาคม 24, 2012, 05:43:58 PM »

เยี่ยมเลยครับ
บันทึกการเข้า


   โรงแรมอโยธยา-ทองคำ-แห่ง-สยาม


หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


Powered by MySQL Powered by PHP Valid XHTML 1.0! Valid CSS!