ถอดรหัสวัฒนธรรมฝรั่ง : แหวนแต่งงาน
แหวนทองกลมเกลี้ยงบนนิ้วนางข้างซ้ายเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าชายหรือหญิงผู้นั้นแต่งงานแล้ว ความกลมเกลี้ยงของแหวนเป็นตัวแทนของความราบรื่นและความเป็นนิจนิรันดร์ของชีวิตคู่ แหวนวงเล็กๆ ดีไซน์เรียบง่ายแต่ความหมายไม่ธรรมดานี้มีประวัติยาวนานมานับพันปี จะมีวิวัฒนาการมาอย่างไรบ้าง ต้องลองมาอ่านกันดูค่ะ
การนำแหวนมาใช้ในพิธีแต่งงานเริ่มต้นมาจากความเชื่อเรื่องโชคลางของคนในสมัยก่อน ที่เห็นว่าอายุขัยของมนุษย์ในยุคนั้นช่างสั้นนัก แต่งงานกันไปประเดี๋ยวเดียวสาวเจ้าก็ลาโลกไปซะแล้ว เจ้าบ่าวจึงนำกิ่งไม้หรือหญ้ามาผูกข้อมือหรือข้อเท้าเจ้าสาวเอาไว้เพื่อแสดงความรัก และประหนึ่งเป็นการผูกตรึงวิญญาณไว้ไม่ให้หลุดลอยออกจากร่างไปก่อนเวลาอันควร และต่อมาก็ค่อยๆ พัฒนามาเป็นการสวมแหวนไว้ที่นิ้วมือ
โดยแหวนแต่งงานที่มีประวัติเก่าแก่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 5,000 ปีก่อน ในวัฒนธรรมอียิปต์ ดังจะเห็นได้จากหลักฐานซึ่งปรากฏในอักษรภาพโบราณ วงแหวนที่ถูกใช้แสดงความผูกพันเสน่หาที่เจ้าบ่าวมีต่อเจ้าสาวจะทำจากหญ้าแห้วหมูหญ้าปาปิรุส หรือต้นอ้อ ที่ถักทอเป็นวงแหวน ต่อมาในช่วงสองร้อยปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวโรมันรับเอาวัฒนธรรมนี้มา แล้วปรับเปลี่ยนเป็นแหวนโลหะเพื่อความคงทนยิ่งขึ้น เจ้าบ่าวโรมันนิยมมอบแหวนทองให้กับเจ้าสาวของพวกเขา แต่แหวนนี้จะถูกสวมใส่เฉพาะเมื่ออยู่นอกบ้านเท่านั้น เพราะราคาค่างวดของมันสูงเกินจะเสี่ยงต่อการบุบสลายจากงานบ้านงานเรือน
ดังนั้น เจ้าบ่าวชาวโรมันจึงต้องมีแหวนสำรองแบบสะเทินน้ำสะเทินบก (และผงซักฟอก) ให้เจ้าสาวใส่ทำงานบ้านอีกหนึ่งวง ซึ่งต้องทำจากเหล็กแถมยังเป็นแหวนรูปกุญแจ แล้วก็ถูกใช้เป็นกุญแจจริงๆ ซะด้วย แม้กุญแจนี้จะเป็นแบบเรียบง่ายและไม่ได้แข็งแกร่งอะไรนัก แต่นัยสำคัญที่แฝงอยู่นั้นคือการที่สาวเจ้าเป็นผู้ถือครองกุญแจสำหรับไขสมบัติพัสถานทั้งหมดของสามีเธอนั่นเอง
ส่วนการสวมแหวนแทนใจในพิธีแต่งงานของศาสนาคริสต์เริ่มต้นขึ้นในช่วงประมาณปี ค.ศ.860 และตอนนั้นก็ยังไม่ใช่แหวนทองกลมเกลี้ยงอย่างในปัจจุบัน แต่เป็นแหวนดีไซน์หรูหรา ประดับประดาด้วยเพชรนิลจินดาสุดอลังการสลักเสลารูปทรงต่างๆ ไว้ด้วย เช่นรูปนกเขา แต่ระยะแรกยังไม่ได้รับความนิยมจากชาวคริสต์ทั่วไปสักเท่าไร กระทั่งเวลาล่วงเลยไปจนเข้าสู่ศตวรรษที่ 13 แหวนแต่งงานก็เริ่มเข้าสู่ยุคบูมสุดขีด โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษและไอร์แลนด์หนุ่มๆ ที่กำลังจะแต่งงานเชื่อว่ามันคือ "must have item" หรือของที่ขาดไม่ได้ประจำซีซันเลยทีเดียว ขนาดว่าถ้าไม่มีเงินไปซื้อหา ก็ต้องไปขอแปะเงินเช่ามาให้จงได้
จนกระทั่งช่วงปี ค.ศ. 1500 การสวมแหวนในพิธีแต่งงานก็ถูกประกาศใช้เป็นเรื่องเป็นราวเสียเลยโดยพระโอรสของกษัตริย์เฮนรี่ที่แปด (Henry VIII) พระองค์ทรงเขียนหนังสือเรื่อง "The Book of Common Prayer" ซึ่งกำหนดธรรมเนียมการแลกคำสัตย์ปฏิญาณสำหรับคู่สมรสอังกฤษชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์สมัยใหม่ และระบุไว้ว่าจะต้องมีการสวมแหวนบนนิ้วของเจ้าสาวด้วย
แล้วทำไมต้องเป็นนิ้วนางข้างซ้ายด้วยล่ะ อันนี้มีคำอธิบายจากหลายแหล่งที่มาค่ะ บ้างก็ว่ามีเส้นเลือดหรือเส้นประสาทหนึ่งที่วิ่งตรงจากนิ้วนางข้างซ้ายผ่านเขา้ สหูั่วใจพอดี นิ้วนี้จึงเหมาะเป็นทูตแห่งความรักและการสวมแหวน บ้างก็ว่ามือซ้ายเป็นข้างที่ถกู ใชน้ ้อยกว่ามือขวา แล้วนิ้วนางก็น่าจะเป็นนิ้วที่รองรับแหวนได้ดีที่สุดเนื่องจากถูกห้อมล้อมปกป้องโดยนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วก้อย บ้างก็ว่ามือซ้ายเป็นมือที่แสดงให้เห็นว่าภรรยามีสถานภาพด้อยกว่าผู้เป็นสามี และสำหรับพิธีแต่งงานของชาวคริสต์นั้น บาทหลวงจะนำแหวน (ซึ่งในระหว่างพิธีจะถูกเก็บรักษาไว้โดยเพื่อนเจ้าบ่าวก่อน) มาแตะที่นิ้วชี้ของเจ้าสาว พร้อมกับเอ่ยว่า "ในนามของพระบิดา พระบุตร พระจิตร..." พลางไล่แหวนไปยังนิ้วกลาง และจบลงที่นิ้วนาง ดังนั้นนิ้วนางจึงเป็นนิ้วสำหรับการสวมแหวนพอดี
แม้แหวนแต่งงานจะนิยมสวมกันที่นิ้วนางข้างซ้าย แต่ในบางวัฒนธรรมก็ไม่เป็นเช่นนั้นเช่น ประเทศอิหร่าน ปากีสถานชิลี สเปน กรีซ เวเนซูเอล่า รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในยุโรปตะวันออกทีนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกนิยมสวมแหวนแต่งงานที่นิ้วนางข้างขวา บางพื้นที่ของอินเดียนิยมให้หญิงสาวสวมแหวนแต่งงานที่นิ้วเท้าแทน และบางทีก็ใส่ที่นิ้วนางข้างขวา หรือไม่ก็ใส่ทั้งนิ้วมือและนิ้วเท้าเลย ส่วนชาวรัสเซียและผู้ที่นับถือศาสนายูดาห์ (Judaism) มักสวมแหวนแต่งงานที่นิ้วชี้ นอกจากนี้ในประเทศโรมาเนียยังมีแนวคิดกิ๊บเก๋สำหรับคู่รักยืนยง เมื่อครบรอบการใช้ชีวิตคู่เป็นปีที่ยี่สิบห้า เขาจะซื้อแหวนเงินอีกวงให้กันและกันแล้วสวมไว้ที่นิ้วนางข้างซ้าย ซ้อนคู่แหวนทองวงเดิม คาดว่าวิธีนี้คงช่วยเพิ่มดีกรีความหวานและความผูกพันในชีวิตคู่ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นทุกครั้งที่ได้ก้มมองนิ้วมือตัวเองน่าอิจฉาจริงๆ ค่ะ
การสวมแหวนแต่งงานระยะแรกๆ นั้นเป็นธรรมเนียมสำหรับฝ่ายหญิงเท่านั้น นึกๆ ไปก็เหนื่อยใจแทนสาวๆ ยุคเก่าก่อนนะคะ มีสารพัดวิธีที่หนุ่มๆ สรรหามาประกาศให้ทุกคนรับรู้ว่าพวกเธอถูกจับจองเป็นเจ้าของแล้ว ไม่ว่าจะด้วยการสวมแหวน การเปลี่ยนเครื่องแต่งกายและทรงผม หรือการสวมใส่เครื่องประดับชิ้พิเศษอื่นๆ บนเรือนร่างไปจนถึงการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อแซ่แต่หนุ่มๆ เหล่านั้นกลับปรากฏตัวต่อสาธารณชนประหนึ่งพวกเขายังไร้มลทินและพันธะโสดสนิทชนิดไม่เค้นให้ตายก็ไม่ยอมปริปาก
อย่างไรก็ตามโชคดีที่มีบริษัทจำหน่ายเครื่องประดับแห่งหนึ่งของอเมริกาออกแคมเปญรณรงค์ให้คู่รักที่กำลังจะสมรสซื้อแหวนแต่งงานเป็นคู่สำหรับทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาว แคมเปญนี้เป็นกลวิธีที่ถูกส่งออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซานิ่งสนิทจากพิษของยุคดีเพรสชั่น (Depression) ในอเมริกาช่วงทศวรรษที่ 1930 และยุคสงครามโลกครั้งที่สองในช่วงทศวรรษที่ 1940 แล้วแคมเปญนี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงามด้วย โดยเฉพาะผลพวงของสงครามโลกนี่แหละค่ะที่ทำให้คู่รักหนุ่มสาวต้องพลัดพรากจากกันไกล เมื่อชายหนุ่มต้องไปปฏิบัติภารกิจรับใช้ชาติ แหวนแต่งงานบนนิ้วของฝ่ายชายจึงชวนให้พวกเขาระลึกถึงช่วงเวลาแห่งความสุขในชีวิตสมรส และเป็นกำลังใจให้เร่งกลับไปพบหน้าภรรยาสุดเลิฟอีกครั้งในเร็ววัน ด้วยวิกฤตที่ถูกพลิกเป็นโอกาสทางธุรกิจดีๆ แบบนี้สาวๆ ทั่วโลกในปัจจุบันก็เลยพลอยได้รับอานิสงส์ผลบุญที่ตกทอดมาด้วย อย่างน้อยก็มีสัญลักษณ์สักชิ้นให้เราได้คัดแยกจำแนกชายโสดและไม่โสดเข้าหมวดเข้าหมู่ได้ถูกไม่มากก็น้อยละนะ
แต่จะว่าไปแล้วแก้วแหวนเงินทองสุดท้ายก็เป็นของนอกกาย สมบัติพัสถานใดก็ไม่สามารถชี้วัดความจริงแท้และความดีงามที่อยู่ข้างในตัวคนได้ บางครั้งที่ตาเราเห็นว่ามี ความจริงอาจจะไม่มี และบางครั้งที่ตาเราไม่เห็นสักสิ่งใด ความจริงอาจจะมีมากมายเหลือคณานับ แล้วเพื่อนๆ จะเลือกสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตาหรือสัมผัสได้ด้วยใจล่ะคะ