header-banner

TARADTHONG.COM

Copy Code แปะที่เว็บไซต์คุณ

ตลาดทอง.COM

 

Copy Code แปะที่เว็บไซต์คุณ

พระอานนท์

พระอานนท์

ท่านเกิดในวรรณะกษัตริย์ ตระกูลศากยะเป็นโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ พระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ มีพระสหายสนิท คือ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายภคุ เจ้าชายกิมพิละ รวมทั้งเจ้าชายเทวทัตแห่งเมืองเทวทหะด้วย แต่ท่านมีพิเศษกว่าเจ้าชายพระองค์อื่นๆ ตรงที่เกิดวันเดียวกันกับพระพุทธเจ้า ดังนั้น จึงจัดเป็นสหชาติ (ผู้เกิดพร้อมกัน) ของพระพุทธเจ้า
                ท่านออกบวชคราวเดียวกันกับเจ้าชายศากยะอื่นๆ ครั้นบวชแล้วไม่นาน ท่านได้บรรลุพระโสดาปัตติผล แต่มาบรรลุพระอรหันต์ภายหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 3 เดือน รวมเวลาที่ท่านเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบันอยู่นานถึง 42 ปี และได้บรรลุพระอรหันต์เมื่ออายุได้ 80 ปี
                สาเหตุที่ท่านบรรลุธรรมช้ากว่าพระรูปอื่นๆ เนื่องจากท่านไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม ต้องขวนขวายอยู่กับการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ท่านได้บรรลุธรรมก่อนมีการทำสังคายนาครั้งที่ 1 เพียงไม่กี่ชั่วโมง ท่านเป็นพระสาวกเพียงรูปเดียวที่บรรลุพระอรหันต์โดยไม่อยู่ในอริยบถ 4 คือ ยืน เดิน นั่ง นอน นั่นคือ ท่านบรรลุพระอรหันต์(เพียงช่วงแวบเดียวเท่านั้น)ภายหลังจากที่ได้ปฏิบัติธรรมทั้งคืนขณะที่จะเอนกายลงนอนบนเตียง พอยกเท้าพ้นจากพื้นแต่ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน จิตของท่านก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย คลายความยึดมั่นลงได้(โดยปกติแล้วพระรูปอื่นจะบรรลุพระอรหันต์ในขณะนั่งสมาธิ แต่พระอานนท์บรรลุพระอรหันต์ในอิริยาบถที่แปลกมากคือกึ่งเอนตัวลงและกึ่งท่านั่ง **เปรียบกับอุบาสกและอุบาสิกานะครับ การจะนั่งสมาธิให้ดีนั้น จิตใจ,ความคิดและความรู้สึกต่างๆ จะต้องอยู่ในภาวะนิ่ง ไม่คิดเรื่องฟุ้งซ่าน นั่งในท่าที่สบายที่สุด แค่นี้ถึงไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์แต่ก็ได้บุญมากและถือเป็นการจัดระบบสมองด้วยครับ**)
                หลังบรรลุพระอรหันต์ไม่นานก็รุ่งเช้า เมื่อฉันภัตตาหารเช้าแล้ว ขณะที่พระสงฆ์จำนวน 499 รูป เข้าไปนั่งคอยท่านอยู่ในมณฑลที่ถ้ำสัตตบรรณ ข้างภูเขาเวภาระ เมืองราชคฤห์ ท่านก็ได้แสดงฤทธิ์เพื่อประกาศให้คณะสงฆ์ได้ทราบว่าท่านได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว ด้วยการดำดินไปโผล่ขึ้นตรงอาสนะที่จัดเตรียมไว้ให้ท่านนั่งนั่นเอง
                พระอานนท์มีบทบาทอย่างมากในการประกาศพระพุทธศาสนาและรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ ผลงานของท่านสามารถประมวลกล่าวได้ดังนี้
                1.เป็นผู้ทรงจำธรรมไว้ได้มาก ท่านได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นพหูสูต เพราะท่านทูลขอพรจากพระพุทธเจ้าก่อนเข้ารับตำแหน่งพุทธอุปัฏฐากมีข้อหนึ่งความว่า “ถ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมเรื่องใดในที่ลับหลังข้าพระองค์ ขอให้พระองค์ได้โปรดแสดงธรรมเรื่องนั้นแก่ข้าพระองค์อีกครั้งหนึ่ง” ท่านให้เหตุผลว่า เพื่อป้องกันการครหา เพราะถ้ามีผู้ถามว่า คาถานี้ สูตรนี้ ชาดกนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ที่ไหน และทรงปรารภเหตุอะไร ถ้าท่านตอบไม่ได้ ก็จะมีเสียงครหาว่าอุตส่าห์เสียเวลาติดตามพระพุทธเจ้าอยู่เหมือนเงาตามตัว แต่กับเรื่องแค่นี้ก็ไม่รู้แล้วอย่างนี้จะติดตามไปทำไป
                2.เป็นผู้ขวนขวายเพื่อสิทธิสตรี ในช่วงพรรษาแรกยังไม่มีสตรีมาบวชเป็นภิกษุณี เมื่อเวลาผ่านไปหลังตรัสรู้ได้ 5 พรรษา พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระน้านางได้พาเจ้าหญิงศากยะจำนวน 500 มาทูลขอบวช ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี แคว้าวัชชี มีพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐาก ครั้งนั้นพระอานนท์ได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการช่วยเหลือให้สตรีเหล่านั้นมีโอกาสได้บวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนา
                3.เป็นผู้ช่วยระงับความแตกร้าวในพุทธจักร คราวที่พระชาวเมืองโกสัมพีเกิดทะเลาะวิวาทกันเป็นฝ่าย พระพุทธเจ้าทรงตักเตือนก็ไม่สามารถคลายทิฏฐิมานะพระเหล่านั้นลงได้ พระองค์จึงเสด็จไปจำพรรษาในป่าปาลิเลยยกะ ต่อมาพระเหล่านั้นเกิดสำนึกผิดรู้สึกละอายใจ จึงเข้าไปหาพระอานนท์ พร้อมขอร้องให้ท่านพาไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทูลขอขมา พระอานนท์ได้ทำตามจนสามารถระงับความแตกร้าวให้กลับคืนสู่สภาวะปกติได้
                4.เป็นผู้วิสัชนาพระธรรมในคราวปฐมสังคายนา ท่านได้ทำหน้าที่วิสัชนาพระธรรม โดยรวบรวมพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้มาจัดเป็นหมวดหมู่ จนปรากฏเป็น พระสุตตันตปิฎก” และ “พระอภิธรรมปิฎก” ให้เราได้ศึกษามาจนทุกวันนี้
                5.เป็นผู้สร้างผู้สืบต่อ ท่านมีลูกศิษย์จำนวนมาก ต่อมาศิษย์ของท่านมีบทบาทสำคัญในการทำสังคายนาครั้งที่ 2 คือ พระสัพพกามี พระยสกากัณฑบุตร พระเรวตะ เป็นต้น
                6.การเดินทางออกเยี่ยมพระสงฆ์ในวัดต่างๆ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พุทธบริษัทก็ถือพระอานนท์ว่าเป็นเสมือนตัวแทนพระพุทธเจ้า หลังทำปฐมสังคายนาแล้ว ท่านจึงออกจารึกไปตามวัดต่างๆ เพื่อเยี่ยมเยียนพระสงฆ์ ปลูกสร้างความสามัคคีไว้เพื่อความไพบูลย์ของพระพุทธศาสนา
                การที่พระพุทธศาสนามั่งคงและรุ่งเรืองสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ถือได้ว่าพระอานนท์ได้มีบทบาทสำคัญมากรูปหนึ่ง พระอานนท์ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะ 5 ด้าน คือ มีสติ ๑ มีคติ ๑ มีความเพียร ๑ เป็นพหูสูต ๑ เป็นพุทธอุปัฏฐาก ๑
                ท่านนิพพานเมื่ออายุได้ 120 ปี หลังพุทธปรินิพพาน 40 ปี นิพพานกลางอากาศระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ โดยเข้าเตโชสมาบัติอธิษฐานจิตให้เกิดไฟลุกไหม้ร่างกาย แล้วแบ่งกระดูกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งไปตกที่เมืองกบิลพัสดุ์ อีกส่วนหนึ่งไปตกที่เมืองเทวทหะ ทั้งนี้เพื่อมิให้ญาติต้องทะเลาะกันเพราะแย่งกระดูก

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

**พระอานนท์เคยถูกสงฆ์ปรับอาบัติ **

หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วไม่นาน พระมหากัสสปซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ได้ประชุมสงฆ์ทำสังคายนาพระธรรมและวินัย โดยอาศัยมูลเหตุที่พระสุภัททะ ได้เป็นผู้กล่าวจาบจ้วงพระธรรมวินัย เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๗ วัน

ก่อนทำปฐมสังคายนาเล็กน้อย พระเถระทั้งหลายได้พร้อมใจกัน ปรับอาบัติพระอานนท์ ซึ่งสำเร็จพระอรหันต์แล้ว รวม ๕ ข้อด้วยกันคือ

•  ถือว่าพระอานนท์มีความผิด ที่ไม่กราบทูลถาม ถึงเรื่องสิกขาบทเล็กน้อย ที่ทรงอนุญาตให้สงฆ์ถอนได้ ถ้าสงฆ์ จำนงจะถอน

พระอานนท์แก้ว่า เพราะระลึกไม่ได้ว่า สิกขาบทเหล่าไหนเป็นสิกขาบทเล็กน้อย จึงมิได้ทูลถาม แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย จึงยอมแสดงอาบัติทุกกฎนั้น

•  ถือว่าพระอานนท์มีความผิด ที่เหยียบผ้าวัสสิกสาฎกของพระพุทธเจ้า ในเวลาเย็บผ้าผืนนั้น

พระอานนท์แก้ว่า ที่เหยียบผ้าวัสสิกสาฎกเวลาเย็บนั้น จะไม่มีความเคารพในพระพุทธเจ้าก็หามิได้ แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย จึงยอมแสดงอาบัติทุกกฎนั้น

•  ถือว่าพระอานนท์มีความผิดที่ยอมให้สตรีถวายบังคมพระสรีระของพระพุทธเจ้าก่อน พระสรีระเปื้อนน้ำตาของพวกนางที่ร้องไห้อยู่

พระอานนท์แก้ว่า ที่ทำดังนั้นเพราะเกรงว่า สตรีเหล่านี้จะกลับบ้านค่ำ จึงให้ถวายบังคมพระสรีระก่อน ไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลายจึงยอมแสดงอาบัติทุกกฎนั้น

•  ถือว่าพระอานนท์มีความผิด ที่ไม่ทูลอ้อนวอนพระพุทธเจ้า เมื่อทรงทำนิมิตโอภาสอันหยาบอยู่ ไม่ทูลอ้อนวอนให้ทรงอยู่ตลอดกัป เพื่อเกื้อกูลแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

พระอานนท์แก้ว่า ที่ไม่ทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้า ทรงดำรงอยู่ตลอดกัป เพราะมารดลใจ ไม่เห็นว่าเป็นความผิดแต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย จึงยอมแสดงอาบัติทุกกฎนั้น

•  ถือว่าพระอานนท์มีความผิด ที่ท่านขวนขวายให้สตรีเข้ามาบวชในพระธรรมวินัย ที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว

พระอานนท์แก้ว่า ที่ทำเช่นนั้น เพราะเห็นว่า พระนางมหาปชาบดีพระน้านาง ทรงเป็นผู้ประคับประคองเลี้ยงดู ทรงประทานขีรธาราแก่พระสิทธัตถะ หลังจากที่พระพุทธมารดาทิวงคต ไม่เห็นว่าจะเป็นความผิด แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลายจึงยอมแสดงอาบัติทุกกฎนั้น

ปัญจสติกขันธกะ วินัย ๗/๓๑๐

ขยายความ พระอานนท์ได้เป็นแบบอย่างดีเลิศในการที่ไม่มีทิฐิมานะ ท่านยอมรับความเห็นของสงฆ์ส่วนรวม ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่เห็นว่าจะเป็นความผิด แต่เมื่อเป็นมติสงฆ์ส่วนรวมท่านก็ยอมปลงอาบัติ

ชาวพุทธทั้งหลาย ถ้าถือเอาแบบท่านพระอานนท์เป็นตัวอย่าง ความวุ่นวายในหมู่คณะก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

 ตลาดทอง-ร้านทอง-ทองคำแท่ง-gold
 ตลาดทอง-ร้านทอง-ทองคำแท่ง-gold
 ตลาดทอง-ร้านทอง-ราคาทอง-gold 
 ตลาดทอง-ราคาทอง-gold 
 ตลาดทอง-ราคาทอง-gold

ขอขอบคุณ

พันธมิตรหลัก

Cocktailpro.co

agaligold.com

AyothayaHotel.com

www.thaimitr.com

www.naresuan.com

ล็อกอิน

www.thaimith.com