TARADTHONG.COM
พฤศจิกายน 09, 2024, 08:23:29 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: ตลาดทองดอทคอม
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  

Copy Code


หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สถานการณ์ของยุโรปยิ่งนับวันยิ่งไว้วางใจไม่ได้  (อ่าน 6420 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
น่ารักสุดๆ
Administrator
Hero Member
*****

คะแนนความนิยม: 2330
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1658



ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: มิถุนายน 02, 2010, 04:51:37 PM »

สถานการณ์ของยุโรปยิ่งนับวันยิ่งไว้วางใจไม่ได้

ขณะนี้วิกฤตกำลังบ่มเพาะถึงขั้นอุกฤษฏ์ในกลุ่มประเทศ PIGS ซึ่งหมายถึง โปรตุเกส (P) อิตาลี (I) กรีซ (G) และสเปน (S) ท่ามกลางความอลหม่านของรัฐบาลและธนาคารกลางในภูมิภาคที่พยายามชี้ทางออกให้กับประเทศเหล่านี้ ก่อนที่จะบานปลายจนยากจะควบคุม

ไม่เพียงแนวโน้มหนี้สาธารณะจะบานปลายกระจายภายในกลุ่มประเทศ PIGS ซึ่งตั้งอยู่แถบตอนใต้ของยุโรปเท่านั้น แต่ยังมีวี่แววที่จะขยายตัวไปยังแถบตอนเหนือ เริ่มจากฝรั่งเศส ซึ่งมีความน่าเชื่อถือทางการเงินที่มั่นคงกว่า แต่ภาวะหนี้สินย่ำแย่ไม่น้อยไปกว่ากันมากนัก

แต่ที่น่ากังวลเป็นทวีคูณก็คือ ปัญหาหนี้สาธารณะยังไม่ทันจะสุกงอมเต็มที่ ขณะนี้ยุโรปยังแสดงอาการป่วยไข้อย่างอ่อนๆ ในธุรกิจการเงินด้วย

แม้จะเพียงเริ่มแสดงอาการ แต่ความไม่ประมาทย่อมเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด หลังจากที่ยุโรปเลินเล่อกับการปล่อยให้ประเทศบางประเทศใช้จ่ายหนักมือจนกลายเป็นปัจจัยบ่มเพาะวิกฤตมาแล้ว

ล่าสุด ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กำลังสาละวนกับการจัดกระบวนการขายพันธบัตรก็ต้องแสดงอาการกังวลอย่างหนัก เมื่อพบว่าบรรดาธนาคารในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร หรือ Eurozone เสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะสินทรัพย์ถดถอยลงเป็นมูลค่ารวมถึง 1.95 แสนล้านยูโร เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังอยู่ในม่านหมอกที่อึมครึมตลอดทั้งปีนี้ยืดยาวไปจนถึงปีหน้า
คำเตือนจาก ECB เป็นสิ่งที่ธนาคารและนักลงทุนทั้งหลายพึงสังวรอย่างยิ่ง แต่คล้ายกับเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์โดยไม่ตั้งใจ ในภาวการณ์ที่ความเชื่อมั่นง่อนแง่นถึงขีดสุด และมีโอกาสที่จะทรุดลงได้ทุกเมื่อ

อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่ง ECB เองยังสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็น “ธนาคารเน่า” หรือ Bad Bank เสียเอง จากความพยายามที่จะขายพันธบัตรเพื่อพยุงประเทศที่กำลังประสบปัญหาหนี้สาธารณะ

หากแนวโน้มที่สินทรัพย์ธนาคารในยุโรปถดถอยลงนับเป็นสิ่งที่ชวนให้กังวลมากพอแล้ว วิธีการแก้ไขวิกฤตของ ECB ยังจุดชนวนให้เกิดกระแสโต้เถียงอย่างรุนแรง แม้กระทั่งในหมู่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางของยุโรปแห่งนี้เอง

วิธีการที่ว่านี้คือ ECB จะกว้านซื้อพันธบัตรของประเทศที่ประสบปัญหาหนี้สิน เพื่อเสริมความมั่นคงทางการเงินในช่วงเวลาที่ประเทศเหล่านี้กู้เงินได้ยากขึ้น เนื่องจากถูกลดระดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน

วิธีการนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูจาก ฌอง โคลด ตริเชต์ ผู้ว่าการ ECB คนปัจจุบัน แต่เผชิญกับแรงต้านอย่างเต็มเหนี่ยวจาก แอกเซล เวเบอร์ ว่าที่ผู้ว่าฯ ECB คนต่อไป

ข้อดีของวิธีการนี้ก็คือ ช่วยไม่ให้กลุ่มประเทศ PIGS หรือรายต่อไปอย่างฝรั่งเศส ต้องล้มละลายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

แต่ข้อเสียอย่างมหันต์ก็คือ ECB จะกลายเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงจากระบบการเงินของประเทศเหล่านี้ และท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นธนาคารกลางที่หมิ่นเหม่กับภาวะล้มละลาย หรือ Bad Bank ยังไม่นับภัยคุกคามต่อพื้นฐานเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อที่จะพุ่งสูงขึ้น

หาก ECB เปลี่ยนสถานะจากผู้พิทักษ์ความมั่นคงทางการเงินของยุโรปมาเป็น Bad Bank เมื่อใด นั่นก็หมายความว่า ยุโรปก็ได้เพียงรอนับถอยหลังเพื่อล้มละลายทางการเงินเมื่อนั้น
ด้วยเหตุนี้ แอกเซล เวเบอร์ จึงหวั่นใจยิ่งนักและโหวตค้านมาตลอด พร้อมชี้ว่า วิธีซื้อหนี้เพื่อกลบหนี้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของ ECB ที่นับวันจะยิ่งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองมากขึ้นทุกขณะ

ขณะที่เวเบอร์ระบุว่าธนาคารกลางของยุโรปถูกแทรกแซงโดยการเมืองนั้น เป็นการโยงสัญชาติฝรั่งเศสของผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน เข้ากับแรงกดดันของประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี แห่งฝรั่งเศสที่ปรารถนาที่จะให้ ECB ยื่นมือเข้าช่วยเหลือประเทศที่กำลังประสบปัญหาโดยเร็วที่สุด

ความเป็นอิสระของธนาคารกลางหนึ่งๆ ไม่เพียงเป็นปัญหาในเชิงหลักการเท่านั้น แต่ยังอาจกลายเป็นปัญหาระดับสาหัสด้านนโยบายการเงิน หากฝ่ายรัฐบาลซึ่งควบคุมการคลัง (โดยเฉพาะรัฐบาลที่ปราศจากวินัยทางการเงินการคลัง) ยื่นมือเข้ามาชักใยนโยบายของธนาคารตามใจชอบ

ดังเช่นกรณีที่รัฐบาลไทยบางชุดพยายามเข้ามาแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยการผลักดันนโยบายรวมบัญชีของ ธปท.และกระทรวงการคลังถึงสองครั้งสองคราในเวลาที่ต่างกัน ซึ่งแม้ว่าการรวมบัญชีจะมีตัวอย่างในบางประเทศ แต่หากนำวิธีการนี้มาใช้หมายความว่า ธนาคารกลางจะหมดสิ้นความเป็นอิสระ และถูกบงการโดยรัฐบาล หนักเข้าก็จะนำไปสู่หายนะ ดังเช่นที่ก่อนหน้าจะเกิดวิกฤตการเงินเอเชียปี 2540

เช่นเดียวกัน การใช้เงินทุนสำรองของธนาคารมาซื้อพันธบัตรรัฐบาล แม้จะถือเป็นวิธีปฏิบัติโดยทั่วไปในการบริหารหนี้สาธารณะ แต่หากใช้ผิดจังหวะและเป้าหมายอาจยังผลให้เกิดมิคสัญญีทางการเงินการคลังได้โดยง่าย

จะเห็นได้ว่า หน่วยงานที่เป็นเสมือนเสาหลักของยุโรป และจะเป็นผู้กอบกู้วิกฤตการณ์ ไม่เพียงมีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในวิกฤตเสียเอง แต่ยังเสี่ยงที่จะหมดสิ้นความน่าเชื่อถือ เพราะเปิดช่องให้การเมืองเข้ามาพัวพันมากเกินไป

ด้วยเหตุนี้จึงไม่เกินกว่าเหตุที่จะชี้ว่า “สถานการณ์ของยุโรปยิ่งนับวันยิ่งไว้วางใจไม่ได้”!

กระนั้นก็ตาม ในช่วงเวลาที่วิกฤต Bad Bank ยังมาไม่ถึงยุโรป และขณะที่วิกฤตหนี้ยังพอซื้อเวลาจัดการได้ สหภาพยุโรปโดยการนำของ ECB ยังมีภารกิจเร่งด่วนที่จะต้องทำ

ประการแรก ต้องหาข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับหนทางในการสะสางวิกฤตที่ดำเนินอยู่

ข้อนี้จะบรรลุผลได้ก็ต่อเมื่อ แต่ละฝ่ายต้องเลิกขัดขากัน และหันมาพิจารณาถึงจุดเด่นจุดด้อยของมาตรการที่จะนำมาใช้สะสางวิกฤตหนี้ ขณะที่รัฐบาลบางประเทศจะต้องลงมือจากการแสดงท่าทีก้าวก่ายนโยบายของ ECB และควรเร่งมือควบคุมวินัยทางการเงินของตน

ประการที่สอง ต้องระดมสมองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตขึ้นซ้ำรอยในเวลาอันใกล้

ทางออกของข้อนี้จะเป็นผลลัพธ์จากข้อแรก สิ่งต่อมาที่จำเป็นที่สุดคือ การปฏิรูปวินัยทางการเงิน และหากมีความจำเป็น กลุ่มประเทศ Eurozone ก็ควรจริงจังกับการลงโทษประเทศสมาชิกที่ขาดวินัยทางการเงิน ทั้งยังขยันก่อหนี้โดยไม่ฟังคำทัดทานของเพื่อนสมาชิกด้วยกัน

สิ่งที่ ECB ต้องการคือความเป็นเอกภาพและอิสรภาพจากการเมือง เพื่อเสถียรภาพของระบบการเงินโลก

สิ่งที่ Eurozone ต้องการคือเจตนารมณ์และความมั่นคงในหลักการของประเทศสมาชิก เพื่อความอยู่รอดของเงินยูโร

ก่อนที่เสาหลักจะล้มลง เพราะเผชิญกับวิกฤตล้อมหน้าล้อมหลัง

เพราะเสถียรภาพทางการเงินของสหภาพยุโรป และค่าเงินยูโรมิได้ผูกติดกับความเป็นความตายของยุโรปเท่านั้น

แต่ยังหมายถึงชะตากรรมของอีกหลายประเทศทั่วโลกที่มอบความไว้วางใจให้กับสกุลเงินยูโร
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


Powered by MySQL Powered by PHP Valid XHTML 1.0! Valid CSS!